เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มแอลกอฮอล์อย่างไรให้เกิดผลดี ประโยชน์ของแอลกอฮอล์ต่อหัวใจและร่างกาย
ดื่มแอลกอฮอล์อย่างไรให้เกิดผลดี
จากการศึกษา American College of Cardiology’s 70th Annual Scientific Session พบว่า การดื่มในปริมาณที่พอเหมาะอาจดีต่อหัวใจ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และลดระดับความเครียดลงได้ ส่งผลให้อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอาจลดลง
แนะนำปริมาณแอลกอฮอล์ต่อวัน ให้ผู้หญิงดื่ม 1 แก้ว ส่วนผู้ชายดื่ม 2 แก้ว ก็เพียงพอ และหากต้องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเลือก ไวน์แดง มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ ในไวน์แดงมีสารที่ชื่อว่า Resveratrol อาจช่วยลดไขมันในเลือดได้
ปริมาณบริโภคต่อหน่วยจำแนกตามประเภทของเครื่องดื่ม คือ
เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% = 360 มิลลิลิตร
ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 12% = 150 มิลลิลิตร
สุราที่มีแอลกอฮอล์ 40% = 45 มิลลิลิตร
คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการได้รับโทษมากกว่าประโยชน์จากแอลกอฮอล์ กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ มีโรคประจำตัว และมีภูมิคุ้มกันต่ำ
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างการพักรักษาตัว หรือต้องใช้ยารักษาอาการป่วย
- ผู้ที่เคยผ่านการบำบัดการเสพติดสุราและสารเสพติด
- ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง และไม่สามารถควบคุมปริมาณในการดื่มได้
- ผู้ที่ต้องทำงานด้วยการใช้ทักษะและสมาธิ รวมทั้งต้องขับขี่ยานพาหนะ
ประโยชน์ของแอลกอฮอล์ต่อทั้งร่างกายและหัวใจ
- ป้องกันโรคหัวใจ จากการวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (Harvard T.H. Chan School of Public Health) พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจขาดเลือดกะทันหัน โรคหลอดเลือดในสมองตีบตัน โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ได้ถึง 25-40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์อาจช่วยเพิ่มระดับไขมันดี หรือ HDL (High-density Lipoproteinl) ในเลือด ซึ่งจะลดระดับและแปรสภาพไขมันชนิดเลว LDL ในผนังเซลล์เลือดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ แอลกอฮอล์ยังช่วยลดการแข็งตัวและความเข้มข้นของเลือด ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภาวะหัวใจขาดเลือดกะทันหัน และโรคหลอดเลือดในสมองตีบตันลดลง
- ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนดื่มไวน์ขาว 250 มิลลิลิตรต่อวันติดต่อกัน 6 สัปดาห์ อีกกลุ่มหนึ่งดื่มน้ำองุ่นขาวในปริมาณและระยะเวลาเดียวกัน พบว่า กลุ่มที่ดื่มไวน์ขาวมีการตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น จึงอาจลดความเสี่ยงของภาวะดื้อต่ออินซูลินและโรคเบาหวานลงได้ นอกจากนี้ งานวิจัยขนาดใหญ่อีกชิ้น พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณดังกล่าวอาจลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน
- ดีต่อใจ เพราะว่าฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอาการมึนเมา ลดประสาทการรับรู้ จึงอาจช่วยคลายความรู้สึกเหล่านั้นลงได้ชั่วคราว สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการสังสรรค์คงทราบดีว่าความมึนเมานี้สามารถเพิ่มความสนุกในการสนทนา และการเข้าสังคมได้ไม่น้อย ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ รวมไปถึงโอกาสทางสังคมในด้านอื่น ๆ ด้วย
การดื่มในปริมาณมากส่งผลให้ขาดสติสัมปชัญญะและความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุ การสูญเสีย หรืออาชญากรรมได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องเผชิญความเครียดหรือความเศร้าเป็นประจำอาจมีแนวโน้มที่จะได้รับผลเสียมากกว่าผลดีจากการดื่ม อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยในช่วงหลัง พบว่าประโยชน์ของแอลกอฮอล์เหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามพันธุกรรม โรค หรือพฤติกรรมอื่นในชีวิตประจำวันของแต่ละคน