การลดความอ้วนแบบเฮลตี้และยั่งยืน
หากลดความอ้วนแล้วส่งผลทางลบต่อสุขภาพจิต เช่น เกิดความวิตกกังวลต่ออาหาร รู้สึกไม่ดีต่อรูปร่าง มักเป็นสัญญาณเตือนสำหรับเราว่า มาผิดทางแล้ว หากทำต่อจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาว และอาจนำไปสู่โรคผิดปกติในการกินได้ ซึ่งโรคนี้ รักษาค่อนข้างยากและต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อลงสนามลดความอ้วนมานาน จะมีทั้งช่วงที่เกิดความวิตกกังวลกับตัวเลขบนตาชั่งและรูปร่าง เรากังวลในการรับประทาน กินแล้วก็รู้สึกผิด ซึ่งเราก็มาคิดว่า คนเราควรจะมีความสุขในการกิน เวลาเราหิว พอได้กินเราน่าจะมีความอิ่มอกอิ่มใจมากกว่ามานั่งคิดมาก
ถึงลดน้้ำหนักได้แต่เราจะรู้ว่า ตัวเองชักจะไม่ปกติ บางครั้งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้ ยิ่งช่วงไหนพอเกิดปัญหาเครียด เราจะกลับไปใช้กลไกป้องกันทางใจ ถดถอยกลับไปใช้อาหารเยียวยาอารมณ์ตัวเอง และมีข้ออ้างต่าง ๆ เพื่อกลับไปกินแบบไม่ดีเหมือนเดิม มันยิ่งทำให้เราเข้าสู่วงจรอุบาทว์ อ้วน ๆ ผอม ๆ ห่อเหี่ยวใจ แล้วก็รู้สึกผิด พอหลายรอบเข้า เริ่มไม่ไหวกับตัวเอง เลยต้องเอามาเป็นบทเรียนและหาวิธีแก้ไข
สำหรับวิธีแก้ไขความวิตกกังวลต่อน้ำหนักและรูปร่างของตัวเอง มี 2 ข้อหลัก ๆ แค่นั้นคือ
1. ไม่หักดิบ ค่อย ๆ ปลูกฝังการดูแลตัวเองแทน ค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ทางลัดโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช้อาหารเสริมลดความอ้วนต่าง ๆ ที่ขายกันทั่วไป อาหารเสริมควรทานเมื่อเป็นความเห็นทางการแพทย์ หรือหากต้องการรับประทานจริง ๆ จะปรึกษาเภสัชกร ส่วนตัวตอนนี้จะกินสองตัวคือ แคลเซี่ยมและวิตามินดี เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน
2. หาอาหารที่น่ารับประทานที่เราชอบ และมีประโยชน์ ที่สำคัญต้องเชื่อมโยงกับชีวิตของเรา ยิ่งถ้าเป็นอาหารพื้นบ้านก็จะฟินมาก บางครั้งคิดไม่ออกบอกไม่ถูก เราสามารถเลือกกินเมนูง่าย ๆ อย่างเช่น ไข่ต้ม สลัด
เมื่อทำตามสองข้อแล้ว จะเตือนสติตัวเอง ให้รู้ข้อจำกัด อย่าได้ต้องการมีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบ เพราะว่าหุ่นในฝันแบบนั้นไม่ได้มีกันได้ทุกคน และต้องใช้การลงทุนลงแรง ซึ่งเราทำไม่ได้
สุดท้ายและท้ายสุด ยอมรับรูปร่างที่สมจริงของตัวเองในแต่ละวัน สนใจที่ร่างกายของเราได้ทำอะไรบ้างในวันนี้แทนการโฟกัสรูปร่าง จะทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตและดูแลร่างกายนี้ต่อไป อย่างวันนี้ก็มานั่งแชร์อะไรนิดหน่อย ซึ่งบอกเลยว่า การปรับเปลี่ยนความคิดพฤติกรรม ทำให้ค่อย ๆ มีความสุขขึ้นในการอาศัยอยู่ในร่างนี้