เต้นรำ ออกกำลังกาย สนุก ผอม สวย ประโยชน์ด้านสุขภาพที่ได้จากการเต้น
ประโยชน์จากการเต้น
บรรเทาความเครียด
การศึกษาโดย Journal of Applied Gerontology พบว่าการเต้นเป็นคู่พร้อมเพลงนั้นช่วยลดความเครียดได้ การศึกษาชิ้นอื่น ๆ ก็แสดงผลแบบเดียวกัน โดยมีบางชิ้นระบุว่าการเต้นสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งสามารถทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
สุขภาพสมองที่ดีขึ้น
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Aging Neuroscience ชี้ว่า การเต้นรำช่วยพัฒนาเนื้อเยื่อสมอง ส่วนที่เรียกว่า สมองเนื้อสีขาว (White Matter) ซึ่งเนื้อเยื่อสมองส่วนนี้ ทำงานสัมพันธ์กับเนื้อเยื่อสมองสีเทา หรือ สมองเนื้อสีเทา (Gray Matter) ที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัส ความคิด ความจำ การมองเห็น การพูด และการได้ยิน สมองเนื้อสีขาวนี้มีแนวโน้มที่จะเสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้เราเคลื่อนไหวช้าลง ความคิดและความทรงจำมีปัญหาในวัยชรา
แอกนีแอสโก เบอร์เซนส์กา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาคประสาทวิทยา ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด ได้ทดลองเปรียบเทียบกิจกรรมระหว่างการเดิน การยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ และการเต้นรำ โดยให้ผู้ทดลองทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิตย์ละ 3 วัน เป็นเวลา 6 เดือน ผลการทดลอง พบว่า การเต้นรำทำให้สมองเนื้อสีขาว (White matter) พัฒนามากขึ้น ถึงแม้นี้จะเป็นเพียงการทดลองเบื้องต้น แต่ก็พอจะบอกได้ว่า การเต้นรำมีประโยชน์ต่อสมอง ความคิด ความจำ และการเคลื่อนไหวตอนที่เรามีอายุมากขึ้น
การศึกษาโดย New England Journal of Medicine พบว่า การเต้นสามารถกระตุ้นความทรงจำ หรือแม้กระทั่งป้องกันความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม ส่วนการศึกษาอื่น ๆ พบว่า การออกกำลังการด้วยการเต้นแอโรบิคสามารถลดอัตราการเสื่อมสภาพของสมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำ(ส่วนฮิปโปแคมปัส) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเสื่อมลงเมื่อเข้าสู่วัยชรา
การใช้เวลาไปกับการจดจำสเต็ปและการเคลื่อนไหวของท่าเต้นก็เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการท้าทายสมอง ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ พบว่า ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ อาทิ การวางแผนหรือการจัดการ ก็พัฒนาขึ้นได้ผ่านการออกกำลังอย่างการเต้นด้วยเช่นกัน
พัฒนาสุขภาวะทางสังคมและอารมณ์
การเรียนเต้น คือ วิธีที่ดีที่สุดในการหาเพื่อนใหม่ และขยายวงสังคม การมีความสัมพันธ์ที่ดี คือปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดีกว่า ช่วยเพิ่มความสุข ลดความเครียด นำไปสู่ระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ การเต้นรำยังช่วยพัฒนาทักษะการเข้าสังคม เพราะการเต้นรำส่วนใหญ่จะเต้นกันเป็นกลุ่ม การเข้าร่วมคลาสเรียนเต้น ก็จะทำให้เราได้เจอผู้คนใหม่ ๆ กล้าที่จะเต้นไปกับเพื่อน ๆ ส่งผลทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น
มีงานวิจัยที่ชี้ว่า การอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เป็นเวลานาน และเป็นสภาพแวดล้อมที่ชวนให้เครียด หดหู่ ชีวิตแย่ ก็สามารถทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นการเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการออกไปเต้นรำ ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวไปตามจังหวะของเพลง สามารถช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้
เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง และความมั่นใจ
การศึกษา พบว่า ผู้ที่รักการเต้นนั้นมีแนวโน้มที่จะมีระดับความเชื่อมั่นในตนเอง และความมั่นใจที่สูงกว่า ก่อนจะเต้นรำได้ ก็ต้องเรียนรู้ท่าเต้นก่อน เมื่อเราเต้นได้แล้ว จะรู้สึกภูมิใจในตนเอง การเต้นรำจึงช่วยเพิ่ม ความมั่นใจในตนเอง และเพิ่มความนับถือตนเอง (Self-Esteem) ได้
การเต้นเป็นประโยชน์กับผู้คนในทุกช่วงอายุ การเต้นหลายประเภท อย่างเช่น การเต้นลีลาศ เหมาะสำหรับคนที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด หรือมีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ในขณะที่การเต้นอีกหลายประเภท ก็เอื้อให้เด็กสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองอย่างอิสระ ปลดปล่อยพลังงาน ช่วยฝึกวินัย การจดจำและเรียนรู้สเต็ปต่าง ๆ
ช่วยลดน้ำหนัก
การศึกษาจาก Journal of Physiological Anthropology พบว่า การฝึกเต้นแอโรบิค สามารถช่วยให้ลดน้ำหนักได้พอ ๆ กับการปั่นจักรยาน หรือวิ่งจ๊อกกิ้ง
การเต้นรำที่เผาผลาญแคลอรี่มาก อย่างเช่น การเต้นซุมบ้า สามารถเผาผลาญได้ถึง 250 กิโลแคลอรี่ ในเวลา 30 นาที การเต้นรำทำให้ได้ขยับอวัยวะทั่วทั้งร่างกาย เหมือนกับการออกกำลังกายประเภทอื่น
การเต้นรำมีเสียงเพลง และมีกลุ่มเพื่อน ทำให้สนุกสนาน จนอาจลืมว่ากำลังออกกำลังกายอยู่ หากต้องการเผาผลาญแคลอรี่ อย่างสนุกสนาน แนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการเต้นรำ
เพิ่มพละกำลัง
งานวิจัยจาก Scholarly Publishing และ Academic Resources Coalition พบว่า การจัดโปรแกรมเต้นรายสัปดาห์สามารถช่วยพัฒนาสมรรถภาพร่างกายของผู้ใหญ่ และช่วยเพิ่มพละกำลังของพวกเขา
พัฒนาระบบหัวใจ และหลอดเลือด
การศึกษาจากอิตาลี พบว่า คนที่มีภาวะหัวใจวายที่เริ่มฝึกเต้นวอลซ์ จะมีสุขภาพหัวใจ การหายใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทำแค่ปั่นจักรยาน หรือเดินบนลู่วิ่ง
พัฒนาการสอดประสาน ความแข็งแรง และสมดุลของร่างกาย
มีส่วนช่วยให้ควบคุมร่างกายตัวเองได้ดีขึ้น นอกจากนั้นการเต้นยังทำให้ระนาบของร่างกายทั้งสามเคลื่อนที่ไปมา ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวทั่วไป อย่างเช่น การเดินหรือปั่นจักรยาน ที่เกี่ยวข้องกับระนาบแบ่งซ้ายขวาเท่านั้น การเต้นทำให้ต้องใช้ร่างกายในทุกระนาบ หมายความว่ากล้ามเนื้อทุกส่วนจะถูกใช้ มิใช่เพียงบางส่วนเท่านั้น
การศึกษาจาก Journal of Aging and Physical Activity แสดงผลว่า การเต้นแทงโก้ ช่วยเพิ่มความสมดุลในหมู่ผู้สูงอายุได้
เพิ่มความยืดหยุ่น
การเคลื่อนไหวระหว่างเต้น ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรฝืนตัวเองมากไปนัก แม้การยืดเหยียดง่าย ๆ ที่มากับท่าเต้น จะช่วยลดอาการปวดข้อต่อ และการอักเสบอื่น ๆ ที่เป็นผลมาจากการออกกำลังกายที่หนักหน่วงกว่าได้ก็ตาม