"ปอบตาพวง" ปอบตนแรกที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ พ.ศ.2435 (ร.ศ.111)
ปอบ เป็นผีจำพวกหนึ่งในความเชื่อพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน เชื่อกันว่าเป็นผีที่กินของดิบ ๆ สด ๆ ที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม ผู้ที่จะกลายเป็นปอบนั้น มักจะเป็นผู้เล่นคุณไสยที่พอรักษาคาถาอาคมที่มีอยู่กับตัวไม่ได้ หรือกระทำผิดข้อห้าม
เรื่องของ ปอบตาพวง ถูกบันทึกในหนังสือชุด “วชิรญาณวิเศษ” ซึ่งพิมพ์ระหว่างปี 2427 ถึง 2448 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามบันทึกเรื่องของปอบตาพวง เกิดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2435 ในจังหวัดอุตรดิตถ์
ตามเรื่องราวกล่าวถึง ชายต่างถิ่น นามว่า “ตาพวง” ซึ่งน่าจะเป็นชาวลาวที่ล่องแพมาขึ้นที่ท่าเรือวัดปากฝาง แขวงเมืองอุตรดิตถ์ เจ้าอาวาสวัดเห็นตาพวงไม่มีที่อยู่จึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ว่างบริเวณวัดปลูกกระท่อมเพื่ออยู่อาศัย
รูปลักษณ์ของ "ตาพวง" ถูกบรรยายไว้ว่า"ผมหงอกขาวทั้งศีรษะ รูปร่างแหละผิวเนื้อเกลี้ยงเกลาผิดกว่าปรกติลาวโดยมาก ใครได้เห็นแกแม้แต่หนเดียว ถึงจะไปเจอที่ไหนอีก ก็เปนต้องจำได้ ทั้งท่วงทีก็กล้าหาญ"
ต่อมาคนแถวนั้นเกิดล้มป่วอย่างไม่ทราบสาเหตุติดๆ กัน 3 คน มีอาการแน่นิ่งเซื่องซึม จนต้องพึ่งหมอผี ได้ความว่าเกิดจาก “ปอบเข้า” เนื่องจากตาพวงเป็นคนต่างถิ่นที่เก็บเนื้อเก็บตัวไม่สุงสิงกับคนอื่นจึงถูกมองว่าเป็นผีปอบ เมื่อชาวบ้านเชื่อเช่นนั้นก็พากันรวมตัวไปเผากระท่อมขับไล่ตาพวงตอนกลางวันแสก ๆ โดยมีพระสงฆ์ร่วมด้วย
คืนก่อนที่ชาวบ้านจะพาตาพวงไปสืบสวนที่เมืองลับแล ตาพวงก็ได้หายตัวไปจากเมืองอุตรดิตถ์ ระหกระเหินไปที่ใดก็ไม่มีใครรู้ได้ ตาพวงจะเป็น ผีปอบ ตามคำกล่าวาจริงหรือไม่ก็ไม่ปรากฏคำตอบแน่ชัด
อ้างอิงจาก: https://th.m.wikipedia.org/wiki/ปอบ
https://www.facebook.com/share/p/qm3BqNdGhuLxmVwa/