ลอร์ด โวลเดอมอร์ เคยเป็นนักเรียนต้นแบบของฮอกวอตส์
“ในฐานะเด็กกำพร้าที่หน้าตาดีมากและมีพรสวรรค์เหนือเด็กทั่วๆ ไป ไม่แสดงท่าทีหยิ่งยโสหรือก้าวร้าวออกนอกหน้า เป็นธรรมดาที่เขาทำให้เหล่าอาจารย์สนใจและเมตตาตั้งแต่นาทีแรกที่พบ เขาดูสุภาพ เงียบขรึมและกระหายความรู้ พวกเราเกือบทุกคนประทับใจในตัวเขาเป็นอย่างยิ่ง”
อัลบัส ดัมเบิลดอร์ : บทที่ 17 ความทรงจำเฉื่อยชา
แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ เจ้าชายเลือดผสม
จอมมารที่ชั่วร้ายและทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างลอร์ด โวลเดอมอร์ สมัยที่ยังเรียนอยู่ฮอกวอตส์ (และใช้ชื่อเดิมว่า ทอม มาร์โวโล่ ริดเดิ้ล) เขาเคยเป็นนักเรียนต้นแบบมาก่อน ไม่ใช่แค่เพราะหน้าตาดีอย่างเดียว แต่ความสามารถของเขาที่โดดเด่นกว่านักเรียนในรุ่นเดียวกัน - อาจรวมไปถึงการที่เขาพูดภาษาพาร์เซลได้ - ความสุภาพ นอบน้อมที่เขาปฏิบัติกับเหล่าอาจารย์ และเป็นเด็กกำพร้า จึงทำให้โวลเดอมอร์ได้รับความเมตตาได้ไม่ยาก
แต่แน่นอน.. ไม่ใช่กับอัลบัส ดัมเบิลดอร์ ผู้ซึ่งได้พบกับทอม ริดเดิ้ลเป็นคนแรกที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า และได้เห็นถึงสัญชาตญาณความโหดร้าย การชอบปกปิดและความต้องการมีอำนาจเหนือคนอื่นที่ทอมแสดงออกมา ดัมเบิลดอร์จึงตัดสินใจเฝ้าจับตาดูเด็กคนนี้อย่างใกล้ชิด (โดยเฉพาะหลังจากเกิดเรื่องห้องแห่งความลับ – เมอร์เทิลตายและแฮกริดถูกไล่ออก - ดัมเบิลดอร์ยิ่งเพิ่มความระแวดระวังในตัวทอมมากขึ้น)
ทอม ริดเดิ้ลเองก็รู้ดีว่าดัมเบิลดอร์นั้นไม่ไว้ใจเขาเหมือนกับอาจารย์คนอื่นๆ เขายอมรับว่าดัมเบิลดอร์นั้น “จ้องจับผิดเขาจนน่ารำคาญ” และเขาเองก็เรียนรู้ในช่วงหลังที่จะไม่โปรยเสน่ห์ใส่ดัมเบิลดอร์
ในบรรดาอาจารย์ทั้งหมด คนที่โวลเดอมอร์สนิทและใกล้ชิดมากที่สุดคือ ฮอเรซ ซลักฮอร์น อาจารย์วิชาปรุงยาและอาจารย์ประจำบ้านของเขาเอง แน่นอนว่าโวลเดอมอร์ถูกเชิญให้เข้าร่วมสโมสรซลักและแทบจะเป็นสมาชิกกลุ่มพิเศษของสโมสร แม้ดัมเบิลดอร์จะเตือนซลักฮอร์นแล้วก็ตามว่าอาจถูกหลอกใช้ แต่ฮอเรซก็ยังเชื่อในสัญชาตญาณการมองคนของตนเอง จนกระทั่งโวลเดอมอร์เรียนจบไปนั่นเอง ซลักฮอร์นจึงได้พบว่าคำเตือนของดัมเบิลดอร์นั้นเป็นจริง
แน่นอนว่าโวลเดอมอร์ไม่ได้รู้สึกรัก ศรัทธาหรือปลาบปลื้มในตัวอาจารย์คนไหนเลย ทุกการวางตัวและการหว่านเสน่ห์ที่เขาทำไปล้วนแต่เพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น เราไม่อาจรู้เลยว่าอาจารย์แต่ละคนเผลอให้ข้อมูล องค์ความรู้ใดที่เป็นอันตรายและต้องห้ามให้กับโวลเดอมอร์ไปบ้าง (ดังที่ซลักฮอร์นทำพลาดไปแล้ว)
โวลเดอมอร์เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจสอนให้เหล่าครู อาจารย์ตระหนักว่าไม่ควรนิยมหรือชื่นชอบนักเรียนคนใดมากเป็นพิเศษ สุภาษิตไทยที่ว่า “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ก็ยังคงใช้ได้กับกรณีนี้เช่นกัน
อ้างอิงจาก: พอตเตอร์ไดอารี่