มีรักแต่ไม่อยากผูกพัน โรคกลัวการผูกมัด เมื่อความสัมพันธ์อาจไม่ได้สร้างความสุขเสมอไป
โรคกลัวการผูกมัด (Commitment Phobia) หรือ กลัวการผูกมัด (Fear of Commitment) เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิง และผู้ชาย คือ ภาวะที่กลัวการตกลงใจที่จะทำพฤติกรรมร่วมกับผู้อื่นโดยมีคำสัญญาการผูกมัดในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น การคบกันในสถานะแฟน กลัวการแต่งงาน ถ้าฝ่ายตรงข้ามเร่งรัด ผูกมัด เพื่อต้องการคำตอบ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ หวาดระแวง สุดท้ายความสัมพันธ์ที่มีต่อกันต้องเป็นอันจบลงในที่สุด
ความรู้สึกกลัวการผูกมัด ส่งผลต่อความสัมพันธ์แบบคู่รัก และยังเกิดขึ้นกับสถานการณ์อื่นในชีวิตได้ด้วย โดยมักเกิดในช่วงเปลี่ยนผ่านเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ความกดดัน การปรับตัวไปจนถึงการตัดสินใจ
สาเหตุ
ประสบการณ์ และปัญหาครอบครัวในอดีต
- ประสบการณ์ และความทรงจำที่เคยเผชิญมาตั้งแต่อดีต อาจเป็นรอยแผลในใจที่ติดตัวมา อย่างเช่น เคยถูกทอดทิ้งจากคนรัก เคยถูกหลอก เคยพบความสัมพันธ์ที่ไม่จริงใจ โดนเพื่อนหักหลัง เคยล้มเหลวจากการตัดสินใจพลาด เป็นต้น
- ปัญหาครอบครัวในวัยเด็ก อย่างปัญหาความสัมพันธ์ของพ่อแม่ และการหย่าร้างอาจส่งผลให้เกิดความกลัวมุมมองชีวิตคู่ความสัมพันธ์ และเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตโดยไม่รู้ตัว
การเลี้ยงดูในวัยเด็ก
ในต่างประเทศมีการพูดถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ (Attachment Theory) โดยผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ชี้ว่าการเลี้ยงดูตั้งแต่ช่วงทารกอาจส่งผลต่อนิสัย และมุมมองต่อความสัมพันธ์ตอนโตได้
โดยผู้ที่ศึกษาได้ยกตัวอย่างว่า หากผู้ดูแลอย่างพ่อแม่ตอบสนองต่อความต้องการของทารกช้ากว่าที่ควรจะเป็น เมื่อโตขึ้นเด็กคนนั้นอาจมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาตัวเอง และไม่ยึดติดกับความสัมพันธ์จากคนอื่น
ในอีกด้านหนึ่ง หากเด็กถูกเอาใจหรือเลี้ยงดูด้วยความใกล้ชิด ก็อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้น จะรู้สึกยินดีต่อการสานสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงทฤษฎีที่คนบางส่วนเชื่อ ซึ่งต้องมีการศึกษาให้ลึกซึ้งในหลากหลายมุมมากขึ้น
ปัญหาความมั่นใจในตัวเอง
ความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสม ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่คู่ควร ความสามารถไม่ถึง หรือรู้สึกว่าเรื่องที่จะทำนั้นเกินขอบเขตของตนเอง อาจก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวการผูกมัดได้ เมื่อคนนั้น ๆ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น
ความบกพร่องทางบุคลิกภาพ (Personal Disorder)
ความบกพร่องทางบุคลิกภาพ อย่างภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) ความบกพร่องทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (Schizotypal Personality Disorder) และความบกพร่องทางบุคลิกภาพชนิดแยกตัว (Schizoid Personality Disorders) อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความกลัวต่อความสัมพันธ์อย่างรุนแรง หรืออาจทำให้ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
สัญญาณเตือน ว่าคุณเป็นโรคกลัวการผูกมัด
- เป็นคนที่คาดเดาอะไรไม่ได้ มักเปลี่ยนแปลงความคิดอยู่ตลอดเวลา
- อยากมีความสัมพันธ์แบบคุยกับอีกฝ่ายไปเรื่อย ๆ แต่ไม่อยากมีสถานะเป็นแฟน
- เมื่อความสัมพันธ์เริ่มจริงจังมากขึ้น จะรู้สึกลำบากใจ อยากหนีไปไกล ๆ
- ชอบอยู่กับตัวเอง ไม่มีเพื่อนสนิท ไม่มีคนรู้จักเยอะ เพราะคิดว่าไม่มีใครน่าไว้ใจเท่ากับตัวเอง
- ไม่กล้าแสดงความรู้สึกต่อผู้อื่น เลี่ยงใช้คำที่แสดงถึงความมั่นใจ ความแน่นอน หรือคำที่มีนัยยะพิเศษและความหมายสำคัญ อย่างเช่น ไม่เคยเอ่ยคำว่า รัก หรือ เรียกใครว่า แฟน ประโยคที่พูดถึงคำสัญญา และคำสาบาน
- ใช้คำที่ถ่ายทอดออกมาจากมุมของตนเอง อย่าง “ฉัน” หรือ “ผม” แทนที่จะใช้คำว่า “เรา” ในประโยค รวมทั้งใช้คำที่อาจแสดงความไม่แน่ใจ อย่างขอคิดดูก่อน เอาไว้ก่อน
- รู้สึกอึดอัด ไม่ชอบ และไม่เต็มใจเมื่อต้องพูดถึงอนาคต หรือสถานการณ์ที่สื่อถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ และพยายามหลีกเลี่ยงหรือไม่ตอบสนองต่อเรื่อง หรือเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว
ความรู้สึกกลัวการผูกมัดส่งผลต่อชีวิตยังไง
- ในมุมของความสัมพันธ์แบบคู่รัก ความรู้สึกกลัวการผูกมัดอาจนำไปสู่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน อย่างเช่น คนที่กำลังดูใจกันอยู่ แต่ยังไม่ได้เป็นแฟน ซึ่งฝ่ายหนึ่งอาจต้องการสถานะที่แน่ชัด แต่อีกฝ่ายกลับรู้สึกลังเล ไม่พร้อม หรือเกิดความไม่แน่นอนบางอย่าง โดยภาวะนี้อาจส่งผลให้เกิดการทะเลาะ ไม่เข้าใจกัน และเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ได้
- คนที่มีความรู้สึกกลัวการผูกมัดก็ย่อมรู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง ต่อคนอื่น รู้สึกกดดัน เครียด วิตกกังวล และไม่มีความสุข ในระยะยาวก็อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้
- สถานการณ์อื่น ๆ ความรู้สึกกลัวการผูกมัดอาจตัดโอกาส และเป้าหมายในชีวิต เพราะด้วยความกลัว และความลังเลที่เกิดขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามปัญหา หรือสถานการณ์บางอย่างจนเสียโอกาสได้
วิธีรับมือ หากคนใกล้ตัวเป็นโรคกลัวการผูกมัด
- สำรวจตัวเองและยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น คนที่กลัวการผูกมัดควรเข้าใจในสถานการณ์ และความกลัวที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยอมรับกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรับมือกับความรู้สึกกลัวการผูกมัด ในขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็ควรทำความเข้าใจในตัวของคนที่มีภาวะนี้ด้วย โดยอาจเริ่มต้นพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกันอย่างจริงใจ และร่วมหาทางแก้ไปด้วยกัน
- สร้างความมั่นใจให้กันและกัน ควรสร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคงพร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้กันและกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์และลดความกลัวต่อความหวาดวิตกดังกล่าว ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ปรับทัศนคติเรื่องความรักใหม่
- ให้เวลา ควรเคารพขอบเขตของกันและกัน พร้อมให้เวลาเป็นตัวช่วยให้สถานการณ์ และความสัมพันธ์ดำเนินไปได้ดีขึ้น ไม่เร่งรัดคนรัก ให้ความสัมพันธ์เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
- ทำความคุ้นเคยกับความผูกพัน การค่อย ๆ เรียนรู้ความสัมพันธ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันมากขึ้น ศึกษานิสัยใจคอกันให้มากขึ้น พูดคุยบ่อย ๆ ให้รู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
- พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ หากรู้สึกว่าความกลัวและความหวาดวิตกที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต การนอนหลับ และการเข้าสังคมควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรับมือ