ถมทางน้ำ
หลายสิบปีที่ผ่านมา ในจำนวนคนที่มีบทบาทพัฒนาชุมชนยางชุมน้อย ก็มีคุณพ่อยุวชน สีหะวงษ์ ท่านนี้ ร่วมขบวนอยู่ด้วย
ครั้งหนึ่งนายอำเภอกับปลัด สมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มีเงินผันเพื่อการพัฒนา อำเภอได้เงินมา จะทำถนน ก็เลยประชุมปรึกษาหารือกันกับผู้นำชาวบ้านว่าจะสร้างถนนสายไหน ตรงไหนดี
ก็มีคนเสนอหลายเส้นหลายสาย แต่นายอำเภอกับปลัดก็ดันทุรัง
“ผมว่าข้างวัดโพธิ์ชัยศรี น่าจะตัดถนนได้ ชาวบ้านจะได้ไปมาสะดวก” นายอำเภอว่า
“ผมเห็นด้วยกับท่านครับ เพราะระยะทางกับงบประมาณน่าจะลงตัวพอดี สายอื่นลำบาก” ปลัดเสริมขึ้น ผู้นำชุมชนซุบซิบกัน แล้วก็นิ่งเงียบ
“ว่าไงครับ พ่อใหญ่ พ่อลุง มีใครจะเสริม หรือคัดค้าน”
“ผมว่าก็แล้วแต่ท่านเถอะครับ” ผู้ใหญ่บ้านคนหนุ่มคนหนึ่งแสดงความคิด
“แต่ผมว่าคิดดูให้ดีนะครับท่าน” คุณพ่อยุวชนลุกขึ้นพูดหลังจากยกมือค้างไว้นาน “ทางนั้นเป็นทางน้ำตั้งแต่โบราณ น้ำหลากในฤดูฝนก็จะไหลไปตามทางลงหนองเป็ด หากเราปิดทางน้ำ น้ำก็จะท่วม หรือขังในหมู่บ้าน จะเป็นปัญหาตามมา ผมขอให้ท่านทบทวน ถ้าจะทำก็น่าจะเลี่ยงไม่ให้ขวางทางน้ำ” นายอำเภอ และปลัด ยิ้มเล็กน้อยที่มุมปาก
“ไม่เป็นไรดอกลุง บ้านเราไม่ได้มีน้ำหลากมากมายอย่างภาคเหนือเขา ผมรับรองว่าไม่มีปัญหา”
“แต่ตามกฎธรรมชาติ หากเราฝืนมันคงไม่ดีแน่นะครับ ธรรมชาติเป็นใหญ่ อย่าเล่นกับธรรมชาติดีกว่า เราจะเจ็บตัวกันเปล่า ๆ”
“ธรรมชาติที่ไหน ไม่มีดอก เราควบคุมได้อยู่แล้ว”
และในที่ประชุมวันนั้น ก็ลงเอยด้วยชัยชนะของอำนาจฝ่ายปกครอง โดยไม่สนใจความจริงที่คุณพ่อยุวชนพยายามชี้แจ้งให้ได้คิด และถนนข้างวัดกั้นทางน้ำสายหนองเป็ด ก็ถูกตัดใส่ท่อให้น้ำระบายได้ในปีต่อมาหลังจากสร้างเสร็จไม่นาน เพราะชาวบ้านเดือดร้อนขี้วัวอึควายไหลไปไหนไม่ได้ ก็ขังเหม็นอยู่ในหมู่บ้าน ไปมาลำบาก
นี่คืออำนาจแท้จริงของธรรมชาติ ที่นายอำเภอและปลัดรวมทั้งคนสนับสนุนมองข้าม และที่อื่น ๆในบ้านนี้เมืองนี้ก็คงมีเรื่องเช่นนี้ให้เล่าอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น