บารมีหลวงปู่หน่วย
ทุกวันนี้ นักเรียนบ้านนอก มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เดินทางไปโรงเรียนด้วยรถประจำทางบ้าง รถจักรยาน จักรยานยนต์ มากขึ้น เผลอ ๆก็ใช้รถปิกอัพ รถเก๋งก็มี แต่ดูเหมือนส่วนใหญ่จะไม่ใคร่จริงใจจริงจัง ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองนัก ผิดกับสมัยก่อนที่ถึงทางไปโรงเรียนจะยากลำบาก แต่ด้วยความมุมานะ เห็นคุณค่าของการศึกษา นักเรียนรุ่นนั้นก็ไม่หวั่น บุกป่าฝ่าดงก้าวไปสู่ทางฝันของตนได้
ในบทสนทนาตอนหนึ่ง คุณพ่อยุวชนเล่าว่า แต่ก่อนราว พ.ศ. ๒๕๐๐ บ้านยางชุมน้อย เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองคง (ราษีไศล – ปัจจุบัน) แต่การเรียนก็ต้องเข้าเมือง ใครจบ ป.๗ ที่บ้านเราแล้ว ก็ต้องเดินทางเข้าเมืองศรีสะเกษ การเดนทางใช้เท้า อยากได้ของอยู่ของกินก็ห่อเอา มีพริกปลาร้า ข้าวสาร อาหารแห้งจำพวกปลาแห้ง ดอกหอมแดง หัวหอม เอาไปฝากต้อนญาติที่ตนจะไปขออาศัยอยู่เรียนหนังสือ เป็นต้น ห่อเสร็จเอาใส่ตะกร้า กระสอบ ใช้ไม้คานหาบไปตามทางดินทรายผ่านทุ่งนา ป่าดงหนา มุ่งลงใต้ ผ่านหมู่บ้านค้อทอง ข้ามแม่น้ำมูลที่นั่น เด็กผู้หญิงผู้ชายก็ต้องหาบเหมือนกัน บางคนก็ใช้หาบเดียวกัน เปลี่ยนกันหาบ เหนื่อยนักก็พักพูดคุยกันไปตามทาง เป็นชีวิตอีกรสชาติหนึ่ง บางคนถึงกับร้องไห้ กว่าจะไปถึงใช้เวลาหลายชั่วโมง เป็นครึ่งค่อนวันก็มี ระยะทางก็ราว ๆ ๑๕ - ๑๖ กิโลเมตร
และเด็กชายส่วนใหญ่ก็จะไปพักที่วัด คุณพ่อยุวชนก็ด้วย วัดหลวงศุมงคลราม มีหลวงพ่อ หน่วย ขนติโก เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นคนยางชุมน้อย ขยันเรียนจนได้เปรียญธรรม ๖ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าอาวาสในที่สุด
ท่านเป็นพระที่เอาจริงเอาจังในการสอนลูกวัด ยิ่งศิษย์วัดลูกหลานที่มาเล่าเรียน ท่านยิ่งดูแลสั่งสอนเป็นพิเศษ
ครั้งหนึ่งศิษย์วัดกินข้าวเสร็จ ทิ้งถ้วยจานไว้ไม่นำไปล้าง กลับจากโรงเรียนท่านถามว่าใครกิน ทุกคนก็เงียบ ท่านจึงเรียกมาทุกคน ให้ช่วยกันแบกจานรอบศาลา และร้องว่า “คราวหลังกินแล้วจะล้างถ้วยครับ” เสร็จแล้วก็ให้นำไปล้าง และครั้งต่อไปก็ไม่มีถ้วยที่กินแล้วไม่ล้างอีกเลย
เรื่องขี้ไก่ ก็เช่นเดียวกัน ท่านมาเห็นขี้ไก่อยู่บนศาลา ถามว่าใครดูแลกวาดถูศาลา ทำไมให้ไก่มาขี้ใส้ได้ ศิษย์วัดวิ่งกระหืดกระหอบจากการเล่นตะกร้อที่สนาม นิ่งเงียบราวป่าช้า ท่านจึงว่าเบา ๆ ให้ไปเอาใบไม้มาคนละใบ มาเช็ดขี้ไก่นี้ให้เกลี้ยง ศิษย์วัดต่างกุลีกุจอทำตาม ในที่เสร็จศาลาก็สะอาดดังเดิม จากนั้นมาก็ไม่มีขี้ไก่ให้เช็ดอีก
ตอนเช้าใครจะถ่ายเบา ท่านเจ้าคุณหน่วยฯ ก็ให้ไปปล่อยลงในถังใหญ่ แล้วให้นั่งไปรองปัสสาวะที่หมักไว้นี้ไปรดผัก พวกพริกมะเขือ ผักกาด ที่สวนครัวใกล้ ๆกัน ดูแล้วงามกว่าใส่ปุ๋ยเคมีเป็นไหน ๆ
เมื่อคุณพ่อยุวชนอยู่ที่วัดนั้น ครั้งหนึ่งอยากไปใส่เบ็ดกับเพื่อน รู้ว่าเจ้าคุณท่านไม่ให้ไปแน่ จึงลักไป และได้ปลามาขังไว้ในครัวของวัด ดึก ๆปลาก็ดิ้นเสียงดัง ท่านก็ปลุกศิษย์วัดขึ้นมาถาม ว่าเป็นปลาของใคร ไม่มีเสียงตอบ จะด้วยความกลัว หรือง่วงนอนไม่มีใครพร้อมจะตอบก็ไม่ทราบ นายยุวชนก็นิ่ง ท่านว่าข้างวปลาที่วัดไม่พอกินใช่ไหม จึงต้องไปหามาเพิ่ม ทำนองว่าอยู่ที่วัดอดอยากหรืออย่างไร ท่านเลี้ยงดูลุกหลานไม่ดีหรือ เมื่อทุกคนเงียบ จากนั้นท่านก็บอกให้ทุกคนเข้านอน ตอนเช้าท่านก็ให้เอาปลาที่สภาพยังแข็งแรงดีอยู่ไปปล่อยที่สระ ตอนเช้าให้เอาปลาที่ตายชำแหละ ทาเกลือตากไว้ด้วย ตกเย็นนายยุวชนอยากลับบ้าน เพราะว่าเงินที่ได้มาใช้หมด ที่จริงหลวงพ่อเจ้าคุณก็รู้ และให้นายยุวชนไปรับใช้ใกล้ชิด หยิบข้าวของ บีบหนวด พูดคุยเรื่องที่ยางชุมน้อยให้ฟัง และให้เงินใช้บ้าง แต่นายยุวชนได้ยินเพื่อนบอกว่าพ่อคิดถึง จึงให้กลับ ที่จริงนั้นอยากให้ลูกชายกลับไปช่วยทำนาเป็นแรงงานมากกกว่า เพราะที่มาเรียนนี้พ่อก็ไม่เห็นด้วย ก็เลยต้องมาลาท่านเจ้าคุณ ท่านก็ถามไถ่ว่าทำไมต้องกลับ จะกลับอย่างไง ไม่มีเงินใช้ก็ให้บอก แต่นายยุวชนก็ได้แต่นิ่งเงียบ แล้วท่านก็อวยชัยให้พร แล้วก็ไม่ลืมบอกให้เอาปลาที่ตากไว้กลับไปฝากพ่อด้วย เพราะอยู่ที่นี่มีพอกินกันอยู่
จากวันนั้นนายยุวชนก็ไม่ได้กลับไปเรียนต่ออีก เพราะต้องทำงานนาทุ่งช่วยทางบ้าน ด้วยหน้าที่ของลูกชายคนโต อีกไม่กี่ปีก็กลายเป็นพ่อคน มีเหย้ามีเรือนของตน สร้างฐานะครอบครัว และคอยฟังข่าวเพื่อนที่มีโอกาสเล่าเรียน คนนี้จบได้เป็นครู ได้เป็นโน่นเป็นนี้ ขณะเดียวกันท่านก็ศึกษาจากการสังเกต คิด ติดตาม ตามอย่างความขยันและแนวทางที่เจ้าคุณหน่วย ฯ ท่านเมตตาสั่งสอน ในหลาย ๆเรื่อง เช่น การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ
นี่คือลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของอดีตเจ้าคณะจังหวัดสายธรรมยุต หลวงปู่เจ้าคุณหน่วย ขนฺติโก ใต้ร่มใบบุญบารมีของท่าน ทำให้คุณพ่อยุวชนมีสายตาที่แหลมคม ลึกซึ้งในการมองโลก และใช้ชีวิตเป็นชาวบ้าน ที่ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา