เงิน ๑๐ บาท กับมุมมองและวิธีคิด
สวัสดีครับ ในกระทู้นี้ขอแบ่งปันมุมมองดีๆ ให้ได้อ่านกันนะครับ
เงิน ๑๐ บาท กับมุมมองและวิธีคิด
ถ้ามีเงินอยู่ ๑๐ บาท ซื้อของไป ๓ บาท จะได้รับเงินทอนเท่าไร?
หากเราตั้งคำถามกับเด็กว่า
“ถ้ามีเงินอยู่ ๑๐ บาท ซื้อของไป ๓ บาท จะได้รับเงินทอนเท่าไร ?”
เด็กส่วนใหญ่ตอบว่า “๗ บาท”
แต่มีเด็ก ๒ คนที่ตอบไม่เหมือนกับคนอื่น
คนหนึ่งตอบว่า “๒ บาท”
อีกคนหนึ่งตอบว่า “ไม่ต้องทอน”
เมื่อถามเด็กคนแรกว่า ทำไมถึงได้เงินทอน ๒ บาท
คำตอบที่ได้ก็คือ
ภาพในใจของเขาสำหรับเงิน ๑๐ บาท คือ
เหรียญห้าบาท ๒ เหรียญ เมื่อซื้อของราคา ๓ บาท
เขาก็ให้เหรียญห้าบาทไป ๑ เหรียญ
ดังนั้น จึงได้เงินทอน ๒ บาท
แต่พอถามเด็กคนที่สองว่า ทำไมไม่ได้รับเงินทอนเลย
คำตอบก็คือ
เด็กคนนี้คิดว่าในกระเป๋ามีเหรียญบาท ๑๐ เหรียญ
เมื่อซื้อของราคา ๓ บาท เขาก็ส่งเหรียญบาทให้ ๓ เหรียญ
เพราะฉะนั้น คนขายจึงไม่ต้องทอนเงินให้เขา
นี่เป็นการถาม-ตอบ ที่ไม่มีเกณฑ์การตัดสินว่า ถูกหรือผิด
ลองนึกดูสิว่า ถ้าโจทย์นี้เป็นข้อสอบที่มีคำตอบเป็น ก-ข-ค-ง
เด็ก ๒ คนนี้ก็คงไม่ได้คะแนนจากคำตอบที่ผิดเพี้ยนจากคนส่วนใหญ่
การสร้างโจทย์ที่ “เสมือนจริง”
คนที่ตั้งคำถาม อาจมองในมุมเพียงแค่ “ตัวเลข” บวกลบกัน
แต่สำหรับเด็กจินตนาการของเขาไร้กรอบ
ดังนั้น เงิน ๑๐ บาท จึงสามารถเปลี่ยนเป็น
เหรียญสิบบาท , เหรียญห้าบาท หรือ เหรียญหนึ่งบาท
ยิ่งตอนนี้เมืองไทยมีเหรียญสองบาทด้วยแล้ว
เราจึงอาจได้คำตอบเพิ่มอีก ๑ คำตอบ คือ
ได้เงินทอน ๑ บาท
โลกในห้องเรียนกับโลกของความเป็นจริงนั้นแตกต่างกัน
โลกในห้องเรียน ทุกคำถามส่วนใหญ่มีเพียง ๑ คำตอบ
แต่โลกของความเป็นจริง ทุกคำถามอาจมีคำตอบที่ถูกต้องได้เกิน ๑ คำตอบ
ดังนั้น อย่าตัดสินเรื่องราวหนึ่ง เพียงแค่คำตอบของเราเอง
และ อย่าตัดสินอะไร เพียงแค่คิดว่า ตัวเราเองคิดถูกแล้ว
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่าน หวังว่าบทความนี้จะเป็นการเปิดมุมมองทัศนคตินะครับ แล้วพบกันกระทู้หน้าครับ
อ้างอิงจาก: Facebook ฉันว่าดี