"ตัวกล้วยตาก" เป็นสัตว์หรือเป็นกล้วย
นี่ไม่ใช่กล้วยตาก! ทำความรู้จัก “ตัวกล้วยตาก” สัตว์หายาก พบเพิ่มในไทยอีก 2 ชนิด
คืนวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจทางการของหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Animal Systematics Research Unit, CU) ออกมาโพสต์ สัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกคืออะไรกันแน่ไปดู
ตัวกล้วยตากคืออะไรกันแน่
ตัวกล้วยตาก หรือเรียกว่า ทากเปลือยบก (land slug) เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มหอยฝาเดียว แต่ร่างกายมีการลดรูปเปลือกไปจนหมด ไม่หลงเหลือเปลือกให้เห็นอีกเลย
คนในภาคอีสานเรียกว่าแมงลิ้นหมาหรือตัวลิ้นหมา
คนในภาคเหนือเรียกว่าขี้ตืกฟ้า
คนในภาคใต้เรียกว่าทากฟ้า
คนในภาคกลางเรียกว่าตัวกล้วยตากหรือทากดิน
“ตัวกล้วยตาก” ถูกค้นพบสายพันธุ์ใหม่ของโลก
ทั้งหมด 2 ชนิดในประเทศไทย ประกอบด้วย
Valiguna semicerina (Mitchueachart & Panha, 2024) "ตัวกล้วยตากหลังเกลี้ยง" พบได้ที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย และยังพบได้ในประเทศกัมพูชาและเมียนมาร์
Valiguna crispa (Mitchueachart & Panha, 2024) "ตัวกล้วยตากถ้ำขมิ้น" พบได้แค่ที่ถ้ำขมิ้น จ.สุราษฎร์ธานี
ตัวกล้วยตาก 2 ชนิดใหม่นี้ ค้นพบโดยคณะนักวิจัย นำโดยนางสาวบวรลักษณ์ มิตรเชื้อชาติ นิสิตระดับปริญญาเอกภายใต้การดูแลของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาศัยข้อมูลอวัยวะภายในและแผนภูมิต้นไม้เชิงวิวัฒนาการจากข้อมูลดีเอ็นเอในการแยกชนิด
คณะนักวิจัย ได้ศึกษาตัวกล้วยตากในสกุล Valiguna ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งหลังการค้นพบทำให้ ตัวกล้วยตาก ที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 3 ชนิด ชนิดที่ถูกค้นพบก่อนหน้านี้คือ Valiguna Siamensis (Martens, 1867) หรือตัวกล้วยตากสยาม มีการกระจายทั่วประเทศไทย รวมถึงในประเทศเมียนมาร์และลาว