เมื่อรู้สึกผิดทุกครั้งที่ว่างงาน ทำงานเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังทำไม่มากพอ Productivity Shame
Productivity Shame คือ ความรู้สึกของการทำบางสิ่งบางอย่างไม่มากเพียงพอ รู้สึกผิด ละอายใจทุกครั้งที่ไม่ได้ทำงาน หรือปล่อยให้ตนเองมีเวลาพักผ่อน ทำงานอดิเรก กลับรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังทำสิ่งต้องห้าม ไม่เหมาะสม เพราะมีความคิดว่าเวลาที่ใช้ในการหยุดพักผ่อน ทำงานอดิเรก จะสามารถทำงานผลงานได้อีกมากมาย จึงมักจัดการบริหารเวลาไม่ให้ตกหล่น ต้องทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาเพื่อให้รู้สึกถึงความมีประสิทธิภาพในงาน บางคนถึงขั้นทำงานเสร็จไปหลายชิ้นแต่ยังรู้สึกว่าทำเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการเครียด อาจถึงขั้น Burnout
สาเหตุของ Productivity Shame
1.เชื่อมโยง ผูกคุณค่าของตนเองกับการบรรลุความสำเร็จ ยิ่งทำงานมาก ยิ่งรู้สึกดี รู้สึกถึงคุณค่าในตนเองมากขึ้น ตนเองจะมีคุณค่าได้ต้องทำงานมาก ๆ เมื่องานไม่สำเร็จตามที่คาดหวัง จึงเกิดความรู้สึกผิด ละอายใจ เห็นคุณค่าในตนเองลดลง ทำให้รู้สึกผิดแบบไม่มีจบสิ้น
2.กำหนดเป้าหมายที่ไม่สมจริง ตั้งเป้าหมายเกินตัวและเป็นไปได้ยาก เมื่อตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เกินไป หากทำไม่ได้จริง จะท้อแท้ เหนื่อยล้า รู้สึกผิด ละอายใจ
3.ยึดติดกับความเชื่อว่าทุกคนประสบความสำเร็จมากกว่าตนเอง มักเปรียบเทียบความสำเร็จของตนเองกับเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้าง โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าตนเองอยู่ท่ามกลางผู้คนสำเร็จมากมาย ยิ่งทำให้รู้สึกขาดความเชื่อมั่น คิดว่ายังไม่มีความสามารถมากพอจนเกิดความละอายใจ
วิธีการปรับพฤติกรรมจัดการ Productivity Shame
1.ตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง เมื่อเริ่มมองเห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจน จะช่วยเสริมพลังใจได้ดีเมื่อตนเองกำลังเข้าใกล้เป้าหมาย ทุกครั้งที่จะตั้งเป้าหมายต้องดูว่า “เราอยากประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร” “เราจะไปถึงจุดนั้นได้ยังไง” และ “ทำไมเราถึงอยากทำมันให้สำเร็จ”
2.กำหนดขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน ควรหาคำตอบให้ได้ว่าคำว่า “พอ” ของตนเองคืออะไร ปรับความคิดยอมรับว่า ในหนึ่งวันอาจจะต้องมีสาเหตุที่ตนเองทำงานได้ไม่เต็มที่บ้าง จากความเหนื่อยล้า สิ่งรบกวนต่าง ๆ หากรู้สึกว่าในวันนั้นไม่สามารถจัดการงานได้ ให้ซื่อตรงกับตนเอง ประเมินว่างานที่ทำอยู่ใช้เวลาทำได้นานแค่ไหน ปรับเปลี่ยนยืนหยุ่นเวลาในการทำงานใหม่ได้ เพื่อให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด
3.ปรับวิธีคิดเกี่ยวกับการทำงานหนึ่งงานใดเพียงอย่างเดียวอาจให้ความรู้สึกคืบหน้าช้า แต่จะสามารถโฟกัสกับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า แม้การทำงานหลายอย่างพร้อมกันช่วยให้งานสำเร็จรวดเร็วขึ้น แต่ไม่อาจทำหลายอย่างพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งหมด ย้ำให้ตนเองเห็นว่าที่ทำมาไม่เสียเปล่า
4.ปรับความคิดที่ว่าคนอื่นทำเรื่องต่าง ๆ ได้มากกว่า สำเร็จมากกว่าตนเอง โปรดเห็นคุณค่าในทุกขั้นตอนของการทำงานของตนเองให้มากขึ้น ให้มองคนอื่นเป็นแรงบันดาลใจไม่ใช่การเปรียบเทียบ แต่ละคนก็มีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน สิ่งที่ตนเองทำสามารถประสบความสำเร็จหากตั้งใจทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ แม้ระยะเวลาจะไม่เท่ากับคนอื่นก็ตาม อย่าเอาปริมาณมาเป็นตัววัดความสำเร็จ
5.ใช้เวลาพักผ่อน ให้ตนเองได้ผ่อนคลาย เมื่อไม่ใช่เวลางาน ปรับความคิดว่าการพักผ่อนไม่ใช่สิ่งที่เสียเวลาเปล่า ทำงานอดิเรก กิจกรรมที่สนใจ ลดความตึงเครียดทางอารมณ์ ให้ร่างกาย สมองได้เติมพลัง คลายความเครียดจากการทำงาน สร้างความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน (Work-Life Balance) มีสัมพันธภาพที่ดีทั้งที่บ้านและที่ทำงาน