วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล Free-Floating Anxiety
วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล Free-Floating Anxiety คือ อาการวิตกกังวลโดยไม่ได้ทราบสาเหตุ ไม่ผูกพันกับเหตุการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง อาการนี้มักเกี่ยวข้องกับคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder หรือ GAD) คือ การวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง กังวลมากเกินความจำเป็นส่งผลให้กระทบชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งแม้ไม่มีอะไรให้กังวล แต่มักคาดเดา จินตนาการถึงสิ่งที่แย่ที่สุดไว้ก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เงิน ครอบครัว สุขภาพ ความสัมพันธ์
อาการ – สัญญาณเตือน ภาวะวิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล Free-Floating Anxiety
1.มีความรู้สึกวิตกกังวล ไม่สบายใจ กลัว กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนก สงสัย คับข้องใจ เกิดความเครียด กับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ความรู้สึกเหล่านี้จะมา ๆ หาย ๆ ไม่มีที่มาชัดเจน ไม่มีสาเหตุ
2.กระสับกระส่าย หวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย
3.อ่อนเพลียเหนื่อยล้าง่าย
4.ใจลอย หงุดหงิดง่าย
5.ปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดท้อง ปวดตามร่างกาย
6.ไม่สามารถควบคุมความกังวลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ มีความคิดเชิงลบ มักมีข้อสรุปที่แย่ที่สุดเสมอ
7.รู้สึกไม่ผ่อนคลาย ไม่มีสมาธิ
8.หน้ามืดบ่อย เวียนหัวง่าย
9.ตกใจง่าย มีอาการสั่น หรือ กระตุก
10.นอนหลับยาก หรือ นอนไม่หลับ
11.เบื่ออาหาร กลืนอาหารได้ลำบาก
12.เหงื่อออกง่าย หายใจติดขัด
สาเหตุภาวะวิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล Free-Floating Anxiety
1.พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม หากพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกจะมีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน หรือมีพื้นฐานที่ไม่กล้าแสดงอารมณ์ออกมา
2.สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู จากการเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ คนใกล้ชิด
3.การประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล ประสบการณ์เชิงลบ ที่กระทบกระเทือนจิตใจมีบทบาทให้เกิดความรู้สึกเครียด หวาดกลัว รู้สึกวิตกกังวลจนนำไปสู่ความวิตกกังวลมากกว่าปกติได้
4.สารเคมีในสมองไม่สมดุล ระบบสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองชื่อว่า Serotonin และสมองส่วนที่เรียกว่า Amygdala เมื่อเกิดความไม่สมดุลจะมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้มากกว่าปกติ
วิธีรับมือภาวะวิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล Free-Floating Anxiety
1.ทำตัวเองให้ผ่อนคลายด้วยการ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฝึกการกำหนดลมหายใจ นวดเพื่อผ่อนคลาย เป็นต้น
2.หางานอดิเรกที่ชอบทำเพื่อเลี่ยงความวิตกกังวลสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันลง
3.ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ลดการสูบบุหรี่ แม้จะช่วยคลายความกังวลได้บ้าง แต่ไม่นานนักความกังวลจะวนกลับมาเช่นเดิม และเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ในระยะยาว จะทำให้เสพติดแอลกอฮอล์กับนิโคติน เพิ่มความกังวลปัญหาด้านสุขภาพ
4.ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนมีส่วนกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว เมื่อร่างกายได้รับมากไปในขณะที่กำลังเกิดความวิตกกังวล อาจกระตุ้นให้เกิดความกังวลมากยิ่งขึ้น
5.จัดการความคิด ไม่ควรกล่าวโทษตัวเองหรือคิดในแง่ลบก่อนที่เหตุการณ์จะเกิด ลองปล่อยวางให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นมาก่อน แล้วฝึกมองโลกตามความเป็นจริง ฝึกการปล่อยวางเรื่องต่าง ๆ ทั้งดีและร้าย รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ