ข้อไหล่ติด ภัยร้ายวัยทำงาน รักษาหายได้ ต้องปฏิบัติอย่างถูกวิธี
ภาวะข้อไหล่ติด เป็นภาวะที่ข้อไหล่เคลื่อนที่ได้น้อย ยกแขนขึ้นจะเกิดอาการปวด เมื่อเนื้อเยื่อหุ้มไหล่เกิดการยึดติด ไม่ยืดหดตามการเคลื่อนไหวของไหล่ ยกไหล่ขึ้นได้ไม่เต็มที่ มีอาการปวดเมื่อยกแขน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของการหยิบจับวัตถุที่ต้องยกไหล่ การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร หรือการใส่เสื้อผ้า
โดยมากมักเกิดกับคนที่มีอายุช่วง 40-60 ปี และเกิดใน ผู้หญิง มากกว่า ผู้ชาย นอกจากนี้ พบว่า ผู้ที่เป็นเบาหวาน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจมีโอกาสเกิดภาวะโรคข้อไหล่ติดมากกว่าคนทั่วไป
สาเหตุของข้อไหล่ติด
ไม่มีสาเหตุอย่างแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ในปัจจุบันมีทฤษฎีเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย หากระบบภูมิคุ้มกันไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง นอกจากจะไม่ป้องกันแล้วยังโจมตี และทำลายเนื้อเยื่อ เมื่อเนื้อเยื่อถูกทำลายก็จะเกิดการอักเสบ การอักเสบที่มีความรุนแรง จะส่งผลให้กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อหุ้มบริเวณไหล่เกิดการหดรัด แข็งตัวจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนปกติ
สาเหตุอื่น ๆ อย่างเช่น กล้ามเนื้อฉีกขาด กล้ามเนื้ออักเสบ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ กระดูกบริเวณไหล่หัก กระดูกบริเวรไหล่เคลื่อน การเสื่อมของไหล่ โรคข้ออักเสบ
อาการ เป็นอาการที่ไม่สามารถยกแขนได้สุด หากยกแขนจนถึงระดับเกือบเต็มที่จะรู้สึกปวด โดยอาการข้อไหล่ติดจะเกิดทุกทิศทางในการเคลื่อนไหว ทั้งไปข้างหน้า ด้านข้าง หรือข้างหลัง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ข้อไหล่ติด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 ระยะปวด
ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยยังเคลื่อนไหวไหล่ได้ แต่จะมีอาการปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหวไหล่ โดยจะมีอาการปวดมาก แม้ยกไหล่เพียงนิดเดียว และมักจะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นในเวลากลางคืน และข้อไหล่จะติดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้เวลา 2-9 เดือน
ระยะที่ 2 ระยะข้อไหล่ติด
ระยะนี้อาการปวดที่ไหล่ก็จะค่อยๆ เบาลง แต่การเคลื่อนไหวไหล่ก็ลดลงตามไปด้วย ในระยะนี้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้ตามปกติ บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการใชีชีวิตประจำ ไม่ว่าจะเป็นการหวีผม ถูหลัง หากพยายามฝืนดัดข้อไหล่แรง ๆ อาจเกิดการอักเสบ และมีอาการปวดขึ้นมาบ้าง โดยผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ในระยะนี้นานแตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปีครึ่ง
ระยะที่ 3 ระยะคลายตัว
ในระยะนี้อาการปวดจะค่อย ๆ ลดลง ส่วนการเคลื่อนไหวของไหล่ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ จนสามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้อย่างคล่องตัว และ ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติจะรักษาตัวเอง อาจใช้เวลาตั้งแต่ 1-3 ปี
การรักษาข้อไหล่ติด
- โดยปกติแล้วโรคข้อไหล่ติดจะหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่จะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น
- ให้ยาลดปวด ยาต้านการปวด และการอักเสบ อาจเป็นยากิน หรือยาชนิดฉีด
- กายภาพบำบัด ผู้ป่วยต้องทำกายภาพอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ระยะแรก ต้องปรึกษานักกายภาพบำบัด จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
- ผ่าตัด อย่างเช่น การดมยาสลบเพื่อดึงข้อไหล่ หรือผ่าตัดพังผืด เนื้อเยื่อที่ติดอยู่บริเวณไหล่ สำหรับผู้ป่วยบางรายที่รักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ
- การออกกำลังกาย ด้วยการยืดดัดกล้ามเนื้อ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณไหล่เพื่อให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น