ควันบุหรี่มือสอง (Secondhand smoke)
ควันบุหรี่มือสอง หมายถึง การได้รับควันจากบุหรี่ ไปป์ ซิการ์ ทางอ้อมโดยที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วยตัวเอง แต่ได้รับจากผู้ที่สูบพ่นออกมาทางลมหายใจ ผสมกับควันจากปลายมวนที่กำลังเผาไหม้ โดยไม่ผ่านตัวกรองสารพิษใด ๆ ควันชนิดนี้ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษนับร้อยชนิด และในจำนวนนี้ราว 70 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็งที่สามารถปะปนอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมง โดยไม่มีกลิ่นให้รับรู้ได้เลย การได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ มะเร็งปอด โรคร้ายแรงอื่น ๆ
ควันบุหรี่มือสองมี 2 ชนิด
1.ควันข้างเคียง คือ ควันที่ลอยอยู่ในอากาศระหว่างที่บุหรี่ถูกเผาไหม้รอการสูบ
2.ควันหลัก คือ ควันที่ผู้สูบบุหรี่พ่นออกมาหลังการสูบบุหรี่
แม้จะเรียกกันว่าควันหลัก แต่ควันที่เป็นอันตรายต่อผู้สูดดมมากกว่าคือควันข้างเคียง เพราะประกอบไปด้วยความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งที่สูงกว่าจึงเป็นพิษมากกว่า และยังมีอนุภาคที่เล็กกว่าด้วย ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดได้ลึกกว่าควันสายหลัก
อันตรายของควันบุหรี่มือสองมีอะไรบ้าง?
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปีมีคนไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง อย่างน้อยปีละ 2,600 คน จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยควันบุหรี่มือสองปีละ 6,500 คน
จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 พบว่า
คนไทยที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจากสมาชิกในบ้าน มีมากถึง 17.3 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็น ควันบุหรี่มือสองมีความเชื่อมโยงกับ โรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และ เนื้องอกในสมองในเด็ก และยังมีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น กล่องเสียง คอหอย โพรงจมูก สมอง กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร และเต้านม
จะหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสองได้อย่างไร ?
การป้องกันด้วยการไม่สูดดมควันบุหรี่มือสองอาจทำได้ยาก เพราะแม้จะไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ แต่ไม่มีทางทราบเลยว่า อากาศตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น มีควันบุหรี่มือสองหรือไม่ ? ยิ่งมีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงสารตกค้างจากควันพิษ
ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้คือ
- ต้องไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ภายในบ้าน หรือ รถยนต์
- หลังการสูบบุหรี่ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ในบ้าน
- เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาสุขภาพหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ และไม่อยู่ใกล้เขตสูบบุหรี่