กิจกรรมกระตุ้นสมอง ป้องกันภาวะสมองเสื่อม
1.ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ อย่างเช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือการเต้นแอโรบิค วันละ 30 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 วัน
2.รักษาสุขภาพอยู่เสมอ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อปลา
- กิจกรรมที่ช่วยทางด้านร่างกาย อย่างเช่น การเดินในระยะทางใกล้ ๆ แทนการนั่งรถ การทำงานบ้าน การทำงานอดิเรกที่ชอบ
- กิจกรรมทางสังคม อย่างเช่น การออกไปพบปะเพื่อนฝูง การพูดคุยกับเพื่อนบ้าน
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่สูบบุหรี่ และดื่มสุรา
- ไม่ทำกิจกรรมที่เสี่ยงกับการบาดเจ็บทางศีรษะ
- ไม่ปล่อยให้มีน้ำหนักตัวมากจนอ้วน
3.ฝึกทำท่าบริหารสมองบ่อย ๆ
- ท่าโป้งก้อย มือขวาชูนิ้วโป้ง มือซ้ายชูนิ้วก้อย เมื่อทำได้ ให้สลับเปลี่ยนเป็นมือขวาชูนิ้วก้อย มือซ้ายชูนิ้วโป้ง
- ท่าจีบแอล มือขวาทำมือรูปจีบ มือซ้ายทำมือเป็นรูปแอล เมื่อทำได้ให้สลับมือเปลี่ยนเป็น มือขวาทำมือรูปตัวแอล มือซ้ายทำเป็นรูปจีบ
- ท่าจับจมูกจับหู มือขวาจับปลายจมูก มือซ้ายจับหูขวา เมื่อทำได้ ให้สลับเปลี่ยนเป็นมือขวาจับหูซ้าย มือซ้ายจับปลายจมูก
4.ทำอาหาร
เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวันที่ซับซ้อน ที่ต้องอาศัยการทำงานของสมองหลายส่วน อย่างเช่น การทำงานของสมองที่เกี่ยวกับ ด้านการวางแผน การรู้คิด และจดจำ เริ่มตั้งแต่ข้อมูลวิธีการเตรียมทำอาหาร ส่วนประกอบของอาหาร รวมถึงการประกอบอาหารอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมได้
กิจกรรมการทำอาหารนอกจากการฝึกกระตุ้นให้มีการรู้คิด วิธีการเตรียมทำอาหาร ส่วนประกอบ การประกอบอาหาร การปรุงรสชาติอาหารเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการใช้ประสาทสัมผัสในการมอง การรับรส และการได้กลิ่น เพื่อที่จะบอกว่าอาหารที่อยู่เบื้องหน้ามีหน้าตา รสชาติ และกลิ่นเป็นอย่างไร ซึ่งการกระตุ้นประสาทสัมผัสหลายระบบสามารถเพิ่มความสามารถในการจดจำ การฝึกปฏิบัติเพิ่มความมั่นใจในการทำอาหาร เป็นการช่วยเหลือตนเอง และคงความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันได้