การใส่หูฟังนาน ๆ ส่งผลกับการหูอย่างไร ?
การใส่หูฟังนาน ๆ มีผลต่อการสูญเสียการได้ยินไหม ? การได้รับเสียงดังจนเกินไปย่อมเป็นอันตรายต่อการได้ยิน อาจทำให้สูญเสียการได้ยินจากเสียงได้ (Noise-induced hearing loss) เสียงจากหูฟังก็เช่นกัน หากผู้ฟังเปิดเสียงดังเกินไป ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้สูญเสียการได้ยินได้
ระดับความดังของเสียงมีหน่วยที่เรียกว่าเดซิเบล (Decibel) โดยเดซิเบล dB (A) คือ สเกลของเครื่องวัดเสียงที่สอดคล้องกับการได้ยินของมนุษย์ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าระดับเสียงที่ดังเกินกว่า 85 เดซิเบล (เอ) เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หากฟังระดับเสียงนี้มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันจะเป็นอันตรายต่อประสาทหูจึงควรต้องระวังระดับเสียงดัง 85 เดซิเบล (เอ) / 88 เดซิเบล (เอ) เปรียบเทียบความดังกับสิ่งใกล้ตัวได้แก่ เสียงนกหวีด, เสียงรถจักรยานยนต์, เสียงในที่มีการจราจรหนาแน่น
ค่าเฉลี่ยของหูฟังที่คนทั่วไปฟัง พบว่ามีความดังประมาณ 100 เดซิเบล ซึ่งหมายความว่า ไม่ควรได้รับเสียงความดังนี้ติดต่อกันเกิน 15 นาที แต่โดยปกติแล้ว การฟังเพลงหรือใช้หูฟังในกิจกรรมต่าง ๆ มักจะเกิน 15 นาที ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า พฤติกรรมการใช้หูฟังของคนทั่วไปนั้นเป็นอันตรายต่อการได้ยิน
ผลเสียเมื่อฟังเสียงดังเกินมาตรฐานติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผลเสียต่อสุขภาพหู ประสาทหูชั้นในเสื่อมก่อนวัยอันควร เกิดเสียงรบกวนในหู สูญเสียการได้ยิน อาจร้ายแรงถึงขั้นพิการหูหนวก
- ผลเสียต่อสุขภาพจิต เกิดความเครียด มีอารมณ์หงุดหงิด รู้สึกไม่สบายใจ
- ผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เสียบุคลิกภาพ ไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยระดับความดังเสียงปกติได้ ขาดสมาธิ ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
หูฟังแต่ละประเภทมีผลต่อการสูญเสียการได้ยินต่างกันหรือไม่ อย่างไร ?
การใช้หูฟังแต่ละประเภทนั้น ถ้าเสียงที่เข้าไปในหูมีความดังเท่า ๆ กัน จะมีผลต่อการสูญเสียการได้ยินไม่แตกต่างกัน แต่การออกแบบหูฟังแต่ละประเภททำให้เสียงที่เข้าสู่หูของผู้ฟังมีลักษณะต่างกัน
การใช้หูฟังแบบครอบหู (Headphones) มีค่าเฉลี่ยความดังที่ใช้ต่ำกว่า การใช้หูฟังแบบเอียร์บัด (Earbuds) ประมาณ 9 เดซิเบล นั่นหมายความว่า จะสามารถใช้หูฟังได้เป็นระยะเวลานานสูงสุดที่จะไม่เป็นอันตรายได้แตกต่างกันถึง 8 เท่า
การใช้หูฟังประเภทได้ยินผ่านกระดูก (Bone conduction headphones) จะมีประโยชน์เรื่องของความปลอดภัยในการขับขี่พาหนะบนถนน เนื่องจากสามารถได้ยินเสียงผ่านเข้าไปในรูหูได้ปกติ ขณะกำลังใช้หูฟังชนิดนี้
หูฟังแต่ละชนิดมีการออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกัน ควรเลือกชนิดที่เหมาะสมและควรหยุดพักบ้าง ไม่ฟังต่อเนื่องนานเกินไป
นอกจากเรื่องสูญเสียการได้ยิน การใส่หูฟังนานๆ ยังทำให้เกิดผลเสียอื่น
1.เมื่อมีการใช้หูฟังนาน ๆ บ่อย ๆ จะเกิดการสะสมของแบคทีเรียจากความชื้น เหงื่อ และสิ่งต่าง ๆ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเพิ่มจำนวนขึ้น เป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อในบริเวณหูชั้นนอก (Otitis externa)
2.การใช้หูฟังที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับรูหู เช่น ใส่หูฟังแน่นเกินไป อาจทำให้มีอาการเจ็บ เกิดแผลบริเวณรูหูได้ ซึ่งแผลจากการเสียดสีจากหูฟังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อักเสบติดเชื้อบริเวณหูชั้นนอก
การใช้งานหูฟังให้ปลอดภัย
- ใช้หูฟังที่สามารถตัดเสียงรบกวนที่มีความถี่ต่ำออกไป เช่น เสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม การจราจรที่หนาแน่น ผู้คนพูดคุยกันในที่สาธารณะ เมื่อเสียงรบกวนหายไป การใช้หูฟังชนิดนี้จึงทำให้ใช้ความดังในการฟังลดลง
- ใช้หูฟังแบบครอบหูแทนการใช้งานหูฟังแบบอื่น ๆ เพื่อตัดเสียงรบกวนจากภายนอก จะได้ใช้ความดังของหูฟังระดับที่ต่ำลง
- เปิดความดังของหูฟังไม่เกิน 60-70% ของความดังสูงสุด เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที แล้วพักการใช้งานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาทีก่อนการใช้ครั้งถัดไป
- ทำความสะอาดหูฟัง ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์หมาด ๆ เช็ดหูฟังอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- ไม่ใช้หูฟังร่วมกับผู้อื่น
- เก็บรักษาหูฟังในที่แห้งและสะอาด