คนจิตใจอ่อนไหว เป็นทุกข์ง่ายกว่า หนักกว่า หายช้ากว่า
คนส่วนใหญ่ที่อ่อนไหว
เพราะไม่มั่นคงกับความตั้งใจดีๆ
ที่เป็นบุญเป็นกุศล
เพราะฉะนั้นการแก้ลำ
ด้วยการตั้งใจอะไรดีๆอย่างมั่นคง
เป็นการสวนกระแส
บุญเป็นสิ่งมีอำนาจดัดแปลงใจ
เมื่อคิดจะเปลี่ยนแปลงนิสัย
จึงควรเอาบุญมาเป็นตัวตั้ง
แทนที่จะหาเทคนิคแบบโลกๆมาใช้
ซึ่งอาจได้ผลบ้าง
ไม่ได้บ้างผลบ้างในแต่ละคน
บุญในขอบเขตของพุทธศาสนา ก็คือ
การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญสติ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
วิธีทำบุญแก้จิตที่อ่อนไหวคือ
๑) ให้ทาน
ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเป็นฝ่ายให้
เลือกเอาที่เห็นว่าทำได้ทุกวัน
และเป็นเรื่องเล็กน้อยที่สุด
เป็นไปได้จริงที่สุด
เช่น เมื่อขับรถ
ก็ตั้งใจจะเป็นฝ่ายให้ทาง
ในจังหวะที่สามารถให้ได้อย่างปลอดภัยเสมอ
หรือ เจอขอทานที่ไหนให้ ๕ บาท
หรือ ถ้าขัดเคืองใครอยู่
ด้วยความไม่พอใจนิดๆหน่อยๆ
ก็ถือเอาเป็นเป้าหมายของการฝึกอภัยทาน
ตั้งใจว่าจะเป็นฝ่ายไม่ถือสาหาความ
เลือกเอาอะไรอย่างหนึ่ง
เป็นเป้าหมายของการให้
เมื่อทำได้จริงอย่างต่อเนื่อง
แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่สุด
พอนานไป จะทำให้
นึกเมตตาคนรอบข้างมากขึ้น
ใจเปิดกว้างมากขึ้น
และให้ความรู้สึกหนักแน่นมั่นคงยิ่งๆขึ้น
ดูผลข้างเคียงในทางลบดีๆด้วยนะครับ
ถ้าตั้งองศามุมมองผิดไปนิดเดียว
คือไปคิดให้ทานแบบหวังผล
หวังว่าอะไรๆภายนอกจะดีตอบแทนเราทันใจ
ก็อาจยิ่งทำให้สงสารตัวเองหนักขึ้น
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
๒) ถือศีล
ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะถือศีลให้ได้
ถ้าไม่สามารถครบ ๕ ข้อ
ก็ขอให้เลือกเอาข้อใดข้อหนึ่ง
ที่ทำผิดเป็นประจำ
แต่ง่ายที่สุดที่เราจะรักษา
เช่น เคยพูดปดเอาตัวรอด
ก็ตั้งใจงดเว้นเด็ดขาด
เพียงคิดรักษาศีลข้อใดข้อหนึ่งให้ได้มั่นคง
ก็จะสร้างวินัยขึ้นมา
ตัววินัยนั่นเองที่เป็นขันติบารมี
ทำให้จิตใจแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ตามวันเวลาที่สามารถรักษา
ถ้ายิ่งรักษาได้ครบ ๕ ข้อ
จิตจะสะอาดปลอดโปร่งกว่าเดิมอีกหลายเท่า
แต่ถ้ารักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติอยู่แล้ว
หากหมายเอาความหนักแน่นทางจิตยิ่งๆขึ้น
ก็อาจลองขยับไปถือศีล ๘ ดู
เพียงคิดว่าในหนึ่งเดือน ขอมีสัก ๔ วัน
ที่เราจะทำตัวห่างจากกามคุณ
อันเป็นที่บันเทิง เช่น
งดดูทีวี งดฟังเพลง
ไม่กินจุบกินจิบจนง่วง
เท่าที่เห็นมา คนตั้งใจแล้วทำได้
จะมีจิตที่หนักแน่นมั่นคงขึ้นอย่างรวดเร็ว
แม้จะยังทำสมาธิไม่ได้ดี
ก็มีร่องรอยบอกว่าฟุ้งซ่านน้อยลง
แทบเป็นคนละคนภายในเวลาไม่กี่เดือน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
๓) เจริญสติ
ที่คนเราอ่อนไหวง่าย
และฟุ้งซ่านบ่อยนั้น
ก็เพราะขาดสติอยู่เสมอๆ
ถ้าหากมีเครื่องเจริญสติได้
ก็ย่อมมีส่วนลดความอ่อนไหวลงอักโข
เวลาเดินไปไหนมาไหน
ให้สังเกตเล่นๆเสมอว่ามีความสะเทือน
จากฝ่าเท้า กระทบขึ้นมาถึงยอดอก
ถ้าฝึกเดินให้สม่ำเสมอ
เห็นความสะเทือนอย่างคงเส้นคงวา
กระทั่งใจมีจังหวะคงที่ขึ้นมากลางอก
ก็จะสังเกตง่ายว่า
เมื่อใดวูบไหว
เมื่อใดหนักแน่น
เมื่อใดหลุดจากสติไปเป็นฟุ้งซ่านวกวน
ระหว่างวัน ทุก ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาที
ถ้านึกออกก็นึกถึงลมหายใจบ้าง
เพียงครั้งเดียวทุก ๕ นาที
เมื่อสะสมแล้ว
จะเป็นสติกองใหญ่ขึ้นมาได้เหมือนกัน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
คนที่มีพื้นจิตใจอ่อนไหวนั้น
มักไม่ประสบความสำเร็จในการนั่งสมาธิเร็วนัก
จึงท้อง่ายและชวนให้เลิกกลางคัน
แต่ถ้าอาศัยทาน ศีลมาช่วย
ประกอบกับการกำหนดสติกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนคุ้น
โดยไม่หวังผลอะไรเลย
ก็อาจเห็นผลทันตาได้เหมือนกัน
คือไม่ต้องนั่งสมาธิ
ก็มีสมาธิอยู่ในระหว่างวันมากขึ้น
ปลอดโปร่งมากขึ้น
เพราะไม่คิดมากเหมือนเดิม
รู้สึก นึกถึง และให้ความสำคัญ
กับจิตที่เป็นกุศลมากขึ้น
ครึ่งปี ก็อาจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ !