Shopaholic โรคเสพติดการชอปปิง ไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่ผู้ชายก็เป็น
Shopaholic โรคทางจิต ใช้เรียกบุคคลที่มีการใช้จ่ายเงินในการซื้อของ หรือชอปปิงเกินตัว ความต้องการ หรือ อยากซื้อของตลอดเวลา รู้สึกดีที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา รู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่ก็จะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาเดียว และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว พราะคนที่เป็นโรคนี้มักจับจ่ายเกินความจำเป็น หลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ บางครั้งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้เกิดปัญหาตามมา อย่างเช่น กลายเป็นหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เวลาซื้อ
กลุ่มคนที่เป็นโรคนี้ มีตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่มีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง ผู้หญิง มักเสี่ยงต่อพฤติกรรมดังกล่าวได้ มากกว่า ผู้ชาย แต่ใช่ว่าผู้ชายจะไม่เป็นโรคนี้ จากการสำรวจ พบว่า ผู้ชายจะชอปปิงสิ่งของที่อยู่ในความสนใจของตนเอง อย่างเช่น รถยนต์ ของแต่งรถ เกมส์ โมเดลสะสม สินค้าไอที เป็นต้น
สาเหตุของโรค Shopaholic
- ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยอาจมีความวิตกกังวล เกิดภาวะเครียด จึงต้องชอปปิง เพื่อคลายเครียด หรือหาทางระบายอารมณ์ด้วยการชอปปิง
- ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง ผู้ป่วยอาจต้องการสร้างตัวตน เพื่อให้เกิดการยอมรับในการเข้าสังคม อย่างเช่น การแต่งตัวตามแฟชั่น เพื่อให้ตัวเองดูดี ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ซื้อเสื้อผ้าราคาแพง เพื่อให้เหนือกว่าคนอื่น เป็นต้น
- สื่อโฆษณา การได้เห็นรีวิวตามช่องทางต่าง ๆ มองเห็นภาพสิ่งของที่ตัวเองสนใจบ่อย ๆ ทำให้เกิดความอยากได้ และตัดสินใจซื้อในที่สุด
- ความสะดวกในการซื้อ แอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์มากมาย ทำให้เอื้ออำนวยต่อการซื้อขาย เพียงแค่สมัครสมาชิก ก็สามารถเลือกของลงตะกร้า และรอสินค้ามาส่งถึงหน้าประตูบ้านได้เลย ความสะดวกสบายในการซื้อนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสพติดชอปปิงได้
เช็กอาการ Shopaholic
- ซื้อของเป็นประจำทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
- คิดว่าการชอปปิง คือ กิจกรรมคลายเครียด และมีความรู้สึกตื่นเต้น มีความสุขอย่างมาก หลังได้ชอปปิง
- ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน และเปิดใบใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า
- ซื้อของโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็น จึงทำให้มีของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
- โกหก หรือ ลักขโมย เพื่อให้ได้ชอปปิงต่อ
- แม้จะรู้สึกผิดหลังได้ชอปปิง แต่จะยังคงทำต่อไป เพราะไม่สามารถควบคุม และยับยั้งพฤติกรรมการชอปปิงของตนเองได้
- ซื้อซ้ำ ๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วหลายชิ้น
- ซื้อมาแล้วมีปัญหากับคนที่บ้าน แต่ก็ยังตัดสินใจซื้อ
- ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เวลาซื้อของเข้าบ้าน
ผลกระทบจาก Shopaholic
- ชอปสนุกแต่ทุกข์เมื่อต้องจ่าย พฤติกรรมเสพติดการชอปปิงที่เกินตัว อาจทำให้เกิดการหยิบยืม หรือกู้ยืมเงินเพื่อมาจ่ายค่าสิ่งของที่ซื้อไป ทำให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้น
- ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เพราะต้องโกหกว่าของที่ซื้อมานั้นมีคนให้มา หรือซื้อในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง เมื่อคนใกล้ชิดรู้ความจริง ทำให้ทะเลาะกับคนในครอบครัว ส่งผลให้สูญเสียความเชื่อใจจากคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด
- สุขภาพจิตเสื่อม มีหนี้สินแล้วไม่สามารถจัดการกับหนี้สินได้ ส่งผลให้เกิดการแยกตัวออกจากสังคม เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล เมื่อหาทางออกของปัญหาไม่ได้อาจถึงขั้นก่อเหตุอาชญากรรม ซึ่งนำไปสู่การจับกุม และถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
แก้นิสัย Shopaholic
- คำนึงถึงความจำเป็น ก่อนจะซื้ออะไรควรคิดถึงว่าซื้อแล้วได้ใช้หรือไม่ และต้องมั่นใจว่าไม่ได้ซื้อของซ้ำ ไม่ซื้อของตามความอยากได้ของตัวเอง
- ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ช่วยวางแผนการใช้จ่ายเงิน เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้กับตัวเองอีกด้วย
- จัดการอารมณ์ตนเอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับการรับรู้ และจัดการอารมณ์ เพื่อรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของตนเอง รู้ถึงเหตุผลของการจับจ่าย
Shopaholic เป็นภาวะทางจิตที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบว่าตนเอง หรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม และเพื่อป้องกันอาการรุนแรง หรือผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจตามมา