ค่าความดันระดับปกติ ในแต่ละช่วงวัย
วัยทารก ค่าความดันไม่ควรเกิน 90/60 มิลลิเมตรปรอท
เด็กเล็ก 3 – 6 ขวบ ค่าความดันไม่ควรเกิน 110/70 มิลลิเมตรปรอท
เด็กโต 7 – 17 ปี ค่าความดันไม่ควรเกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท
วัยทำงาน 18 – 64 ปี ค่าความดันไม่ควรเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท
ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ค่าความดันไม่ควรเกิน 160/90 มิลลิเมตรปรอท
หากมีค่าความดันสูงเกินกว่าที่กล่าวข้างต้น อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม เชื้อชาติ ภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือ โรคอ้วน การรับประทานอาหารเค็มจัด ความเหนื่อยล้า อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม โรคภัย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีค่าความดันผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
หากมีความดันสูงอันตรายไหม ?
แม้โรคความดันโลหิตสูงในคนส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ แต่หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้ควบคุม อาจนำไปสู่โรคและอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้ เช่น
- หัวใจวาย ภาวะความดันสูงอาจทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน
- เส้นเลือดในสมองแตก ภาวะความดันสูงอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งอาจนำไปสู่โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ ส่งผลให้เสียชีวิต
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันสูงอาจทำให้หัวใจต้องทำงานหนักต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้หัวใจทำงานล้มเหลวในที่สุด
- โรคไต ภาวะความดันสูงอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณไตเสียหาย
- สูญเสียการมองเห็น ภาวะความดันสูงอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณดวงตาเสียหาย
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาจทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวในผู้ชาย หรือ ปัญหาอารมณ์ทางเพศลดลงในผู้หญิง
- หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ภาวะความดันสูงอาจทำให้หลอดเลือดบริเวณแขน ขา ศีรษะ หรือ บริเวณอื่นตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด เหน็บชา หรือ อ่อนแรง
ความดันสูงต้องดูแลตัวเองอย่างไร
1.ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น ปรับการกินไม่กินอาหารรสจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลิกสูบบุหรี่ จัดการความเครียด นอนหลับให้เพียงพอ
2.ใช้ยาลดความดัน ถ้าความดันสูงมาก หรือ มีปัจจัยเสี่ยงด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย แพทย์มักจะใช้ยาลดความดันร่วมกับการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เพื่อให้การรักษานั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น