คุณเป็นมนุษย์งานยอดแย่ หรือไม่
คุณเป็นมนุษย์งานยอดแย่ หรือไม่
จาก หนังสือ เคล็ดลับทำงานดีเป็น Somebody ที่ (องค์กร) ต้องการ เขียนโดย ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต จำแนกพนักงานยอดแย่ ออกเป็น 4 ประเภท ลองเช็คกันดู ว่าคุณเข้าข่ายหรือไม่อย่างไร การประเมินตนเองก่อนให้คนอื่นวิจารณ์ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพื่อความสำเร็จในอาชีพและองค์กร พร้อมแล้วลุย....
แบบที่ 1 พวกว่างตลอด
พวกว่างตลอดนี้ มักจะไม่ค่อยมีงานทำสมชื่อ วันๆ มีเวลาเดินไปเดินมาคุยกับคนโน้นที คนนี้ที ฉุยฉายไปไปเรื่อยไม่ว่าจะในหรือต่างหน่วยงาน ซึ่งนับเป็นผลผลิตของการไม่ได้วางแผนกำลังคน (Workforce Planning) ให้ภาระงานกับจำนวนคนสมดุลกันในลักษณะปริมาณคนเกินล้นงาน (Workforce Surplus) เป็นที่ริษยาของคนในบางกลุ่มงานที่งานเข้าจนล้นมือ
คนจำพวกนี้พอมีเวลาว่างมากก็มักจะมองในทางต่ำ เที่ยวไปจับผิดคนโน้นคนนี้ เที่ยวไปนินทา เผยแพร่ข่าวลือให้ปั่นป่วนกันภายในหน่วยงาน หรือแม้กระทั่งกับลูกค้าที่ควรต้องได้รับบริการอย่างเป็นเลิศ ก็ยังทำให้เป็นเรื่อง นอกจากนี้ แม้จะว่างตลอดแต่ก็ไม่ค่อยเอาเวลาที่ว่างไปหาความรู้ และเพิ่มพูนทักษะเพื่อไปทำงานอื่นที่เกิดคุณค่าต่อตัวเองและต่อองค์กรมากขึ้น แถมบางทีก็สร้างภาพเพื่อให้ดูเหมือนว่าจะมีงานมากมาย (เพราะเอกสารกองเต็มโต๊ะ) แต่หากลองสังเกตให้ดีจะพบว่าเอกสารที่วางไว้ก็ประมาณเกือบทุกวัน และก็แปลกแต่จริงที่เวลามีใครไปขอความช่วยเหลือ คนจำพวกนี้จะตอบกลับมาทันควันว่า "งานยุ่งเอาไว้มีเวลาจะไปช่วยนะ" แล้วถัดมาก็ไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก
คนจำพวกนี้หากมีมากในองค์กรหรือหน่วยงานใด ก็ต้องโทษหัวหน้าที่ปล่อยปละละเลย ปล่อยให้เกิดภาวะการว่างงานกับบางคนขึ้น ไม่กระจายงานให้เท่าเทียมกัน
แบบที่ 2 พวกสมาธิสั้น
คนจำพวกนี้นอกจากจะมีเอกสารกองระเกะระกะเต็มโต๊ะจนชวนให้คิดว่าน่าจะจัดระเบียบชีวิตให้ดีกว่านี้เสียก่อนค่อยมาทำงานแล้ว คนจำพวกนี้จะมีหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เปิดพร้อมกันหลายโปรแกรม ทั้งไฟล์งาน ไฟล์วิดีโอ เปิด Line และ Facebook กันแทบจะตลอดเวลา พอว่างก็ไปอัพสถานะเสียหน่อย แถมบางคนเอางานส่วนตัวหรือเรื่องเรียนมาแอบทำที่ทำงาน ทำไปทำมางานที่ให้ทำก็ไม่มีประสิทธิทธิภาพเลยสักเรื่อง แต่พอหัวหน้าเดินผ่าน กลับดูเหมือนว่างานจะยุ่งมากมาย นั่งจ้องจอตาแข็ง คิ้วย่นแทบจะติดกันประหนึ่งงานเครียดมาก
ธรรมชาติสมองของคนเรานั้นไม่ได้มีความสามารถในการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multi-tasking) หากเราทำงานหนึ่งแล้วเปลี่ยนไปทำอีกงานหนึ่งสลับกันไปมา สมองของเราจะต้องใช้เวลาพอสมควร (โดยเฉลี่ยก็ราว 18 นาที) กว่าจะปรับโหมดให้บริบทของเรื่องใหม่ที่กลับมาคิดได้เต็มที่
แบบที่ 3 พวกปากไม่ดี
คนจำพวกนี้มักมีความคิดที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับใคร เข้าข่ายโรคจิตอ่อนๆ หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ ไว้ใจใครไม่เป็น สบโอกาสก็เที่ยวยุคนโน้นที คนนี้ที่ให้แตกคอหรือกินแทนงแคลงใจกัน แม้จะมีงานให้ทำมาก แต่ก็ยังอุตส่าห์หาเวลาไปเที่ยวยุ่มย่ามเรื่องของคนอื่นเสมอ
คนจำพวกนี้จะมีคำพูดมาตรฐานที่แสดงถึงการขยายความเรื่องเล็กที่แย่ๆ ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ เช่น หากเล่าอะไรให้ฟังก็อย่าคิดมากนะ...." หรือ "ที่พี่รู้มาน่ะยังน้อยไป หนูรู้มาเยอะกว่านั้นอีก......"
เมื่อคนจำพวกนี้มีจิตคิดแต่เรื่องทางลบเป็นสรณะ หัวหน้าเองก็ต้องหมั่นดูแลมิให้น้ำใจของคนจำพวกนี้ ไปแอบเชือดคอคนอื่น ทำให้เกิดความบาดหมางขาดความสามัคคี เพราะไม่เร่งจัดการให้อยู่มือ หนักเข้าจะทำให้คนในองค์กรเกิดรอยร้าวที่ยากจะสมานกันได้
คนปากไม่ดีที่พบเห็นได้อีกแบบหนึ่งในองค์กรซึ่งจัดได้ว่าเป็นพวก"ศัตรูหมายเลข 1" ที่องค์กรจะต้องเร่งหาวิธีจัดการให้ได้ คือพวกตั้งตนเป็นศัตรองค์กร คนจำพวกนี้จะด่าประณามองค์กร หรือหัวหน้างานได้สามเวลาหลังอาหาร แถมยังรู้สึกลบกับองค์กรได้ทุกเรื่อง แต่ไม่เคยคิดที่จะลาออกไปหางานใหม่ และที่น่าสนใจคือ คนจำพวกนี้อยู่ติดกับเก้าอี้ยิ่งกว่าทากาวที่เบาะนั่งไว้เสียอีก พอเจอสถานการณ์จวนตัวก็สามารถพลิกลิ้นกลับมาเทิดทูนองค์กรทั้งที่ด่ามาตลอด แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว เพราะจริตที่คิดแต่ทางลบก็จะทำให้วนกลับไปด่าองค์กรที่จ่ายเงินเดือนให้ตัวเองต่อไป
หากหน่วยงานของท่านมีคนจำพวกนี้อยู่มาก ก็ต้องถามหัวหน้าอีกสักครั้งว่าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ได้เช่นไรกัน
แบบที่ 4 พวกผู้มากอิทธิพล
คนจำพวกนี้จะเป็นคนเก่งที่มีฝีมือดี และอยู่กับองค์กรมานาน ฝากผลงานไว้เสียจนองค์กรรู้สึกว่าขาดเธอไม่ได้ เจ้านายยังต้องเกรงใจ จึงมักได้รับการปฏิบัติที่พิเศษกว่าคนอื่น เวลาคนจำพวกนี้ติคนอื่นที่ประชุมทุกคนก็ได้แต่นั่งอึ้งทนฟัง แม้แต่เจ้านายยังไม่กล้ามีปากเสียง นานเข้าเราก็จะไม่เกรงใจกันอีกต่อไป และมักพบว่าคนเก่งที่สุภาพอ่อนน้อมก็จะทนพวกมากอิทธิพลแต่ EQ ต่ำไม่ได้ ส่วนคนที่รับได้ก็เป็นพวกที่ปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดเก่ง
คนบางคนกลายเป็นผู้มากอิทธิพลได้ก็เพราะใกล้ชิดหรืออ้างอิงผู้มีอำนาจ เช่น เจ้านายสั่งงานผ่านเขาให้ไปติดตามการปรับปรุงกระบวนการทำงานของฝ่ายผลิต เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแย่ๆ ไปเสียทั้งหมด หากผู้มากอิทธิพลนี้รู้สึกใช้อิทธิพลปนกับบารมีที่เกิดมาจากการยอมรับศรัทธา และมีถ้อยทีวาจาต่อกันฉันมิตร งานก็จะเดินไปได้อย่างราบรื่น
สุดท้ายนี้ ขอฝากไว้ว่า หากรู้แล้ว ควรหาวิธีพัฒนา ปรับปรุงตนเอง เพื่อความสำเร็จในอาชีพ และสำคัญที่สุดเราจะมีความสุขกับงานที่ทำและการใช้ชีวิตต่อไป
ป.ล. เพื่อนๆ สามารถติดตามกระทู้อื่นๆ ได้ที่
https://page.postjung.com/n00kky
อ้างอิงจาก: หนังสือ เคล็ดลับทำงานดีเป็น Somebody ที่ (องค์กร) ต้องการ เขียนโดย ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต