Fast Fashion แฟชั่น มาเร็วไปเร็ว กับผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมา
Fast Fashion คือ เสื้อผ้า หรือ สินค้าที่เน้นความรวดเร็ว ตามกระแส ต้นทุนในการผลิตต่ำ ทำให้เสื้อผ้ามีราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย มักเป็นแฟชั่นกระแสสั้น ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยตามความนิยม คุณภาพต่ำ ทำให้ใส่ และ เปลี่ยนใหม่ บ่อยมากขึ้น ออกคอลเลกชันใหม่ ๆ เสมอ คนยิ่งชอบ เกิดการซื้อบ่อยขึ้น การผลิตก็เพิ่มมากขึ้น เพื่อตามเทรนด์
Fast Fashion ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือ ตามกระแสมากขึ้น เปลี่ยนความนิยมง่าย และ เบื่อเร็ว
ผลกระทบของเสื้อผ้า Fast Fashion ต่อสิ่งแวดล้อม
การใช้ฝ้าย
ฝ้าย วัสดุยอดนิยมที่ใช้ในการทำเสื้อผ้า ถึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่ำ แต่การผลิตฝ้ายนั้นต้องใช้พื้นที่ และ น้ำในปริมาณมาก ในเอเชียกลาง จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศหลักในการผลิตฝ้าย กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค สาเหตุสำคัญมาจากการผลิตฝ้าย เพื่อส่งออกให้กับทั่วโลก
ที่ทะเลแอรอล (Aral) ทะเลปิดในพื้นที่เอเชียกลางมีระดับน้ำลดลง สาเหตุมาจากความต้องการฝ้ายจากทั่วโลก จึงต้องดึงน้ำจากทะเลแอรอลมาใช้ในการผลิตฝ้าย จนน้ำในทะเลแห้งเหือดเหลือเพียงแต่ทะเลทราย
การปลูกฝ้ายยังทำให้ดิน และแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงปนเปื้อนปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แมลง นก และสัตว์ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบเป็นทอด ๆ ตามห่วงโซ่อาหาร ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวยังส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย
การใช้เส้นใยสังเคราะห์
โพลีเอสเตอร์ หรือ เส้นใยสังเคราะห์ วัสดุใส่สบาย แต่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โพลีเอสเตอร์เป็นส่วนประกอบในเสื้อผ้า เส้นใยโพลีเสเตอร์ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณมหาศาล ถ้าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ยังมีความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายในปี 2593 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นมากเป็น 3,978 ล้านตัน
ปัญหาของ Fast Fashion
Fast Fashion แฟชั่น มาเร็วไปเร็ว
การผลิตเสื้อผ้าดีไซน์ตามเทรน ไม่คงทน และมีราคาที่ต่ำ ส่งผลกระทบไปสู่สิ่งแวดล้อม และการกดขี่แรงงาน การผลิตที่รวดเร็ว และกดต้นทุนมากเท่าไหร่ ยิ่งนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบทั้งวัสดุ และมนุษย์แรงงานมากขึ้นเท่านั้น และยังทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แนวทางในการแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ แนวคิดการจำกัด ลดการผลิต และบริโภค ด้วยการนำวัสดุที่ผ่านการบริโภคแล้วมาผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ
เดิมทีการผลิตเสื้อผ้าจะใช้แนวคิดแบบเส้นตรง หรือ Linear Economy คือ ใช้ทรัพยากร ผลิตสินค้า และย่อยสลาย แนวคิดดังกล่าว ส่งผลโดยตรงต่อการลดลงของทรัพยากรในโลก อย่างทรัพยากรน้ำที่ลดลงของทะเลแอรอล ทั้งยังสร้างขยะขึ้นมาในปริมาณมากจนยากจะกำจัดให้หมดไป
หลักการสำคัญ 3 ประการ ของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
1.ออกแบบสินค้า และบริการ ที่เน้นการรักษาต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ
2.เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบ และสินค้า
3.ลดการเกิดของเสีย และผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
วิธีแก้ปัญหา Fast Fashion
นำเสื้อผ้ามาใส่ซ้ำ
Slow Down Fast Fashion คือ การลดการซื้อ และ เน้นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ เลือกแบบ หรือ โทนสีเพลน ๆ สไตล์มินิมอลที่สามารถนำมาใส่ซ้ำได้ไม่เบื่อ หรือนำมามิกซ์แอนด์แมทซ์กับเสื้อผ้าที่มีอยู่ให้ได้เยอะที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการ Single-Use
ใช้บริการร้านเช่าชุด
คนส่วนใหญ่ไม่นิยมการใส่ชุดซ้ำ และต้องการชุดใหม่ตามเทรนด์เสมอ สำหรับการใช้ชุดแบบ Single-Use สามารถใช้บริการร้านเช่าชุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชุดราตรีสำหรับไปงานแต่ง งานสังสรรค์ การเช่าชุดไปเที่ยวคาเฟ่ เที่ยวทะเล ถ่ายรูปเล่น ธุรกิจเช่าชุดกำลังเป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็น เน็ตไอดอล หรือ ดาราหลาย ๆ คน ก็หันมาปล่อยชุดให้เช่า ซึ่งถือว่าเป็นการลดกระบวนการผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion ได้
ซื้อเสื้อผ้ามือสอง
เสื้อผ้ามือสอง เป็นอีกทางเลือกนึงที่สามารถแก้ปัญหาได้ในเรื่องนี้ ราคาที่ไม่แพง คุณภาพดี ช่วยสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และยังช่วยลดขยะได้อีกด้วย
สนับสนุน Eco Fashion
Eco Fashion คือ แฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งธรรมชาติ สัตว์ และมนุษย์ ปัจจุบันแบรนด์ไทยหลาย ๆ แบรนด์หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้น การสนับสนุนงานที่ทำจากธรรมชาติ หรือช่างฝีมือท้องถิ่นถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียว