ตาบอดสี (Color Blindness)
ตาบอดสี (Color Blindness) คือ ภาวะที่เกิดจากเซลล์รับสีที่ดวงตาเกิดความบกพร่อง เป็นภาวะการมองเห็นสีบางสีได้ไม่ชัดเจน ไม่สามารถแยกสีได้ หรือ ผิดเพี้ยนไปจากผู้ที่มีสายตาผิดปกติ
โดยมักพบใน เพศชาย มากกว่า เพศหญิง ซึ่งสีที่คนมักเป็นตาบอดสี คือ สีเขียว เหลือง ส้ม และ สีแดง ส่วนภาวะตาบอดสีทุกสี (Achromatopsia) จะพบได้น้อยมาก
ตาบอดสีเกิดจากสาเหตุใด
- กรรมพันธุ์ หรือ ตาบอดสีมาแต่กำเนิด เป็นสาเหตุหลักที่พบได้มากที่สุด โดยอาการที่พบบ่อยคือ บอดสีเขียว และสีแดง โดยพบเพศชาย 7% และ เพศหญิงประมาณ 0.5 – 1%
- อายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ไปตามวัย
- โรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก
- โรคอื่น ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน
- สาเหตุอื่นได้แก่ การได้รับบาดเจ็บที่บริเวณดวงตาจากอุบัติเหตุ การได้รับสารเคมีเป็นระยะเวลานาน ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาวัณโรค เป็นต้น
ตาบอดสีมีอาการอย่างไร
- ไม่สามารถแยก หรือ จดจำสีได้ ส่งผลให้เกิดความสับสนในการมองสี เช่น การแยกสีเขียว และ แดงไม่ได้ แต่สามารถแยกได้ในกรณีของสีเหลือง และ น้ำเงิน
- มองเห็นได้เฉพาะบางโทนสี แต่บางสีอาจเห็นแตกต่างจากบุคคลอื่น
- ในบางกรณี อาจพบผู้ป่วยที่สามารถมองเห็นได้แค่สีขาว ดำ และ เทาเท่านั้น แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก
ตัวอย่างแบบทดสอบตาบอดสีแบบอิชิฮารา
1.ผู้ที่มีสายตาปกติ และ ตาบอดสี จะมองเห็นเลข 12
2.ผู้ที่มีสายตาปกติจะอ่านได้ 29
ผู้ตาบอดสีแดง และ สีเขียว จะอ่านได้ 70
ผู้ที่ตาบอดสีทั้งหมด จะอ่านแบบทดสอบนี้ไม่ได้
3.ผู้ที่มีสายตาปกติจะลากเส้นจาก X ไป X ได้
ผู้ตาบอดสีแดง และเขียว จะลากเส้นจาก X ไป X ตามเส้นสีม่วง ต่อกับสีเขียว
ผู้ที่ตาบอดสีทั้งหมด จะลากเส้นจาก X ไป X ไม่ได้
ตาบอดสีกับผลกระทบในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง ?
1.การขับขี่ยานพาหนะ มักมีปัญหากับการแยกสัญญาณไฟจราจร แต่ไม่ได้เสี่ยง หรือ อันตรายมากกว่าบุคคลทั่วไปมากนัก เพราะไฟจราจรมีความเข้มของแสงที่สูง จึงสามารถแยกแยะสีของสัญญาณเหล่านั้นได้ในส่วนหนึ่ง
2.การประกอบอาชีพ ไม่สามารถประกอบอาชีพที่มีความจำเป็นต้องใช้การจำแนกสีได้ เช่น นักบิน เภสัชกร ทหาร ตำรวจ พนักงานขับรถ พนักงานขับรถไฟ งานด้านเคมี จิตรกร
ตาบอดสีรักษาได้ไหม ?
- ผู้ที่เป็นตาบอดสีโดยกรรมพันธุ์ไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติได้
- ในกรณีที่ไม่เป็นตาบอดสีแต่กำเนิด ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุการเกิดตาบอดสี เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น สวมแว่นตา หรือ คอนแทคเลนส์ที่มีเลนส์กรองแสงบางสีออกไป จะช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นสีได้ชัดขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นสีได้เหมือนคนปกติ