โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ โรคที่มีความผิดปกติในวงจรการหลับ พบได้ทุกเพศ ทุกวัย เกิดขึ้นได้บ่อย ตามข้อมูลการศึกษาพบได้ถึง ร้อยละ 30-35 ของวัยผู้ใหญ่ และ พบภาวะดังกล่าวได้บ่อยทั้งในวัยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือ จิตใจ
โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดของการนอนไม่หลับ 3 ชนิดใหญ่ คือ
- หลับยาก ภาวะนี้จะมีปัญหานอนไม่หลับ หรือ ใช้เวลานานเป็นชั่วโมงกว่าจะนอนหลับได้
- ไม่สามารถนอนหลับได้ยาว มักตื่นกลางดึก เช่น หัวค่ำอาจพอหลับได้ แต่ไม่นานก็จะตื่นมากลางดึก ในบางคนอาจตื่นแล้วหลับต่ออีกไม่ได้
- หลับ ๆ ตื่น ๆ จะมีอาการลักษณะคล้ายไม่ได้หลับเลยทั้งคืน เพียงแต่เคลิ้ม ๆ ไปเป็นพัก ๆ
ซึ่งผู้เป็นโรคนอนไม่หลับอาจจะมีอาการเพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือ มีหลายข้อรวมกันได้ เมื่อมีอาการนอนไม่หลับในช่วงตอนกลางคืนจะส่งผลกระทบ ทำให้หลังตื่นนอนอาจรู้สึกสมอง ร่างกาย ไม่สดชื่น อ่อนแรงในตอนกลางวัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ง่วงซึม รู้สึกหงุดหงิด ส่งผลต่อการทำงาน สุขภาพ และ การดำเนินชีวิต
อาการผู้เป็นโรคนอนไม่หลับเป็นอย่างไรบ้าง ?
- หลับยาก
- ตื่นกลางดึก
- ตื่นเช้าเกินไป
- รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่าหลังตื่นนอน
- อ่อนเพลีย ง่วงนอนในระหว่างวัน
- รู้สึกหงุดหงิด หดหู่ วิตกกังวล
- ไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน ความสามารถในการทำงานลดลง
- ทำงานผิดพลาดมากขึ้น เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
- กังวลเรื่องการนอนหลับยาก
ปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนอนไม่หลับ
1.ปัญหาจากสภาพแวดล้อม ภายในห้องนอนมี อุณหภูมิไม่เหมาะสม มีแสงสว่างเกินไป เกิดเสียงรบกวนจากการจราจรในบริเวณใกล้เคียง เสียงและแสงสว่างจากโทรทัศน์ พื้นที่นอนแคบ หรือ กว้าง เกินไป
2.การทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นตัวก่อนเข้านอน เช่น ออกกำลังกายหนัก ๆ เล่นโทรศัพท์มือถือ
3.การนอนต่างที่ทำให้หลับยาก
4.นิสัยการนอนไม่เป็นเวลา
5.ปัญหาทางด้านจิตใจ ความเครียด อาการวิตกกังวล แรงกดดัน มีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ หมดกำลังใจ
6.สาเหตุจากความผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น การกระตุกของขา หรือ แขน ในระหว่างหลับจนเกิดการรบกวนการนอน อาการปวดตามร่างกาย เช่น ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
7.การรับประทานสารกระตุ้น ดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ในตอนบ่าย หรือ ตอนเย็น อาจไปกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวในช่วงกลางคืน สารนิโคตินในบุหรี่ หรือ ยาสูบ อาจรบกวนการนอนหลับ การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ง่วงนอน แต่ก็มีฤทธิ์ที่ทำให้ไม่สามารถหลับลึกได้ และ อาจตื่นกลางดึกบ่อย
การป้องกันอาการนอนไม่หลับ
- เข้านอนให้ตรงเวลาทุกวัน
- สร้างบรรยายกาศให้ห้องนอนสงบ
- ไม่กดดันตัวเองให้นอนหลับ อาจส่งพลให้ตัวเองเกิดความวิตกกังวล
- ไม่งีบหลับระหว่างวัน
- ดื่มน้ำอุ่นก่อนนอน หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ประสาทตื่นตัวหลังมื้อเที่ยง เช่น กาแฟ ชา หรือ การสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้หลับยาก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักช่วงก่อนเข้านอน
- ก่อนเข้านอนไม่ควรกินอาหาร หรือ เครื่องดื่ม ในปริมาณมาก ๆ
- ทำกิจกรรมสร้างความผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ