ฝีดาษลิง ระบาดต่อโควิด19 พบคนแรกในไทยแล้ว!!!
เพิ่งหมดโควิดไป โรคระบาดใหม่ก็มาอีกแล้ว ล่าสุดมีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ Mpox หรือโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ที่ระบาดใน 10 ประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) หลังจากโรคแพร่กระจายจากการระบาดประเทศคองโก มีผู้เสียชีวิตกว่า 450 คน ไปตามประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก
ตอนนี้มีรายงานพบผู้ป่วยฝีดาษลิงต้องสงสัยสายพันธุ์ Clade 1 คนแรกในไทย เป็นชาวยุโรปเดินทางมาจากประเทศคองโกเพศชาย อายุ 66 ปี
มารู้จักโรคนี้ดีกว่า โรคไข้ฝีดาษลิง หรือ ไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เกิดจาก ไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยพบเชื้อในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ซึ่งไปรับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง”
อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ฝีดาษลิงมีหลายสายพันธุ์เหมือนไข้หวัดใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าสายพันธุ์ใดระบาด โดยในปี 2565 มีการระบาดของสายพันธุ์ Clade 2 ซึ่งในประเทศไทยก็พบการระบาดของสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบันประมาณ 800 คน
ส่วนในปี 2567 ตั้งแต่ต้นปีก็พบฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 2 ประมาณ 140 คน
โรคฝีดาษลิงที่ต้องเฝ้าระวังคือสายพันธุ์ไหน
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B นั่นก็คือที่ต้องเฝ้าระวังเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในปี 2565
โรคนี้มีกี่สายพันธุ์ ปัจจุบันค้นพบ 2 สายพันธุ์
1.สายพันธุ์ Clade 1 หรือสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต
2.สายพันธุ์ Clade 2 หรือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในไทยและหลายประเทศทั่วโลก
กลุ่มเสี่ยงมีดังนี้
ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีภูมิคุ้มกันต่ำ
ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด และโรคมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ
ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสาร/ยา/รังสี ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง
ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกอวัยวะต่างๆ
ผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง
เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี และผู้สูงอายุ