กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence)
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) คือ การมีปัสสาวะเล็ดออกมานอกร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้ที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะปัสสาวะประมาณ 8 ครั้งต่อวัน หรือ มากกว่านั้น รวมถึงปัสสาวะในเวลากลางคืนหลายครั้ง การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยมาก ทั้งกลางวัน กลางคืน ปวดกลั้นมากขณะที่จะไปห้องน้ำจนบ่อยครั้ง หรือ บางครั้งกลั้นไม่อยู่ราดออกไปก่อน
บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้เมื่อก้มลงยกของหนักจากพื้น หรือ ออกกำลังกายด้วยการกระโดด หรือ แม้แต่ก้าวขึ้นบันไดหลาย ๆ ขั้นก็ตาม
สตรีหลังคลอดบุตรตามธรรมชาติผ่านช่องคลอด 2 – 3 คนแล้ว อาจจะพบว่ามีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาบ้างทั้งน้อยหรือมากเมื่อเวลาเป็นหวัด มีไอและจาม พบว่าปัสสาวะเล็ด เรียกว่า ปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการออกแรงเบ่งช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence, SUI)
สาเหตุของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
1.กลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบชั่วคราว ส่วนมากเกิดจากการกินอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม กินยา การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- อาหาร เครื่องดื่ม และ ยาที่อาจทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- แอลกอฮอล์
- น้ำอัดลม และ โซดา
- ช็อกโกแลต
- พริก
- วิตามินซี (ปริมาณมาก)
- ยาบางชนิดในกลุ่มยารักษาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากล่อมประสาท
2.อาการทางร่างกายบางอาการส่งผลให้เกิดการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการระคายเคือง
- ท้องผูก เนื่องจากไส้ตรงกับกระเพาะปัสสาวะมีระบบประสาทร่วมกัน อาการท้องผูกอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะทำงานไวเกินปกติ
การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เชิงพฤติกรรม
- การฝึกควบคุมการถ่ายปัสสาวะ เริ่มจากการพยายามกลั้นปัสสาวะเป็นเวลา 10 นาที เป้าหมายของการฝึกคือ ลดจำนวนครั้งในการปัสสาวะต่อวันเหลือเพียงทุก 2 - 3 ชั่วโมงครึ่ง
- การกำหนดเวลาเข้าห้องน้ำ ฝึกปัสสาวะตามช่วงเวลาที่กำหนดในทุก 2 - 4 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้มีปริมาณปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะมากเกินไป
- การควบคุมอาหาร และ เครื่องดื่ม ลดการบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือ อาหารที่มีความเป็นกรดสูง
- การลดน้ำหนัก และ ออกกำลังกายยังช่วยบรรเทาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เช่นกัน