อาหารติดคอ
อาหารติดคอ คือ อุบัติเหตุในขณะรับประทานอาหาร ที่มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าสู่ทางเดินหายใจ ในขณะที่มีอาหารอยู่ในช่องปากจึงเกิดการสำลัก ฝาปิดกล่องเสียงจะเปิดพร้อมกับการหายใจเข้าอย่างแรง สิ่งที่เคี้ยวเข้าไปจึงติดอยู่บริเวณอวัยวะทางเดินอาหาร หรือ ช่วงทรวงอก
สาเหตุที่ทำให้อาหารติดคอ
เกิดจากความประมาท อย่างเช่น การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด การรีบรับประทานจนเกินไป ความไม่ระมัดระวังกระดูกจากเนื้อสัตว์ หรือเมล็ดผลไม้
วัยเด็กเล็ก วัยนี้มักหยิบจับสิ่งต่าง ๆ นำเข้าปาก บางอย่างไม่ใช่ของที่รับประทานจึงทำให้ติดคอได้ รวมทั้งฟันกรามยังไม่แข็งแรงที่จะสามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่ได้
เกิดจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือเพิ่งได้รับการรักษาทางทันตกรรม และช่องปาก
เกิดจากโรค หรือ ภาวะความผิดปกติ อย่างเช่น หลอดอาหารเป็นอัมพาต โรคประสาทที่ส่งผลต่อการกลืน หรือเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช
อาการเมื่ออาหารติดคอ
เมื่ออาหารติดที่บริเวณทางเดินอาหาร มีอาการเจ็บคอขณะพูดหรือกลืน รวมทั้งหน้าอก น้ำลายไหล อาเจียน
เมื่ออาหารติดที่บริเวณกล่องเสียง มีอาการไอ เสียงแหบ หายใจเสียงดัง หอบ ตัวเขียว ดิ้นทุรนทุราย
เมื่ออาหารติดที่บริเวณหลอดลม มีอาการหายใจลำบาก มีเสมหะปนโลหิต หรือหนอง เกิดความผิดปกติแทรกซ้อน โดยเฉพาะปอด และทางเดินหายใจ
การปฐมพยาบาลเมื่ออาหารติดคอ
วัยเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่
- ยืนอยู่ด้านหลังผู้ป่วย
- โอบรอบใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำแล้วหันกำปั้นด้านนิ้วหัวแม่มือเข้าไปที่หน้าท้องผู้ป่วย แล้ววางไว้เหนือสะดือแต่สูงต่ำกว่าลิ้นปี่ มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้
- รัดกระตุกที่หน้าท้องเข้าพร้อมกัน แรง ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออก หรือผู้ป่วยสามารถพูด ร้องออกมาได้
- โทรแจ้งเจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
เมื่อผู้ป่วยหมดสติ
- จัดท่าทางให้ผู้ป่วยนอนหงาย ทำ CPR
- กดหน้าอกนวดหัวใจ ช่วยหายใจโดยการเปิดปากนำสิ่งแปลกปลอมออกมา
วัยเด็กเล็ก
- จัดท่าทางของน้องให้นอนคว่ำหน้าพาดท่อนแขนไว้
- ประคองศีรษะให้ต่ำกว่าลำตัว
- ใช้ฝ่ามือกระแทกบริเวณสะบักด้านหลัง
- สลับกับการนอนหงาย 5 ครั้ง ติดต่อกันอย่างรวดเร็ว
- หากเห็นสิ่งแปลกปลอมในปากให้ล้วงออก
- หากทำแล้ว 3 ครั้ง อาการยังไม่ดีขึ้น รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
การป้องกันอาหารติดคอขณะกินอาหาร
1) นั่งตัวตรงขณะกินอาหารและหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที ควรนั่งพักหรือเดินย่อยสัก 15 – 20 นาที
2) กินอาหารช้า ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
3) อย่ากินอาหารขณะเหนื่อย หรือเร่งรีบ ควรพักก่อนสัก 30 นาที แล้วจึงค่อยกินอาหาร
4) อาหารที่กินควรแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ ไม่กินคำใหญ่เกินไป
5) ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร อย่างเช่น การพูดคุย การเดิน
6) กินอาหารคำละ 1 ชนิด เพราะการกินอาหารที่มีเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดใน 1 คำ อาจสำลักได้ง่าย
7) ควรกินอาหารสลับกัน อย่างเช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว เพื่อให้กลืนอาหารง่ายไม่ฝืดคอ
8) หากอาหารที่กินแข็ง หรือแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอส หรือน้ำซุป ที่ช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น