โรคขนคุด (Keratosis Pilaris)
โรคขนคุด (Keratosis Pilaris) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง ตุ่มนูน ขนาดเล็กตามรูขุมขน มีผิวแห้ง เป็นปื้นหยาบ เวลาลูบไปที่บริเวณดังกล่าวจะให้ความรู้สึกสาก ๆ มักเกิดขึ้นบริเวณแขนส่วนบน ต้นขา แก้ม และ ก้น ในบางรายมีการอักเสบเป็นตุ่มแดง คัน
สาเหตุของขนคุด
ขนคุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในการสะสมของเคราติน (Keratin) ซึ่งการสะสมของเคราตินทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณรูขุมขน หรือความผิดปกติของการสร้างเส้นผม จึงทำให้ขนไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ และเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสะสมของเคราติน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม หรือภาวะทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
นอกจากนั้น ผู้ที่มีผิวแห้งมักมีโอกาสเกิดขนคุดได้มาก และอาจมีอาการแย่ลงเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะมีความชื้นในอากาศน้อยและมักทำให้ผิวแห้ง
อาการของขนคุด
ขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กเล็ก ซึ่งทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนัง
- มักเกิดขึ้นที่แขนส่วนบน ต้นขา แก้มหรือก้น และจะไม่ทำให้เกิดอาการคันและเจ็บ
- บริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มจะมีผิวที่แห้ง และหยาบกร้าน
- เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อมีความชื้นในอากาศน้อย อากาศแห้ง มักจะทำให้อาการแย่ลง หรือ เมื่อผิวบริเวณที่เป็นขนคุดนั้นแห้งกว่าเดิม
- เมื่อลูบที่ผิวหนังจะทำให้รู้สึกคล้ายกระดาษทราย
การรักษา
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ผิวแห้ง อย่างเช่น การอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูง หรือ การอาบน้ำเป็นเวลานาน ๆ
- ทาโลชั่นบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้น และไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน และน้ำหอม
- ครีมยาช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว แพทย์จะให้ใช้ครีมยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี กรดแลคติก กรดซาลิไซลิก หรือยูเรีย ซึ่งนอกจากครีมที่มีส่วนผสมเหล่านี้จะช่วยผลัดและกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป และช่วยให้ความชุ่มชื้น ช่วยทำให้ผิวที่แห้งกร้านนั้นนุ่มนวลขึ้น อย่างไรก็ตาม กรดที่ผสมอยู่ในครีมเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแดงหรือระคายเคืองต่อผิวได้ ซึ่งจะไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก
- ครีมป้องกันการอุดตันของรูขุมขน แพทย์จะให้ครีมยาวิตามินเอ อย่างเช่น ยาเตรทติโนอิน ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเซลล์และป้องกันการอุดกั้นของรูขุมขน อย่างไรก็ตาม ครีมยาชนิดนี้อาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือผิวแห้งได้ และสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ไม่ควรให้ ควรเลือกใช้วิธีอื่นรักษาแทน
- ทำเลเซอร์กำจัดขน
อ้างอิงจาก: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh /kcmh/line/การรักษาโรคขนคุด/
https://www.pobpad.com/ขนคุด