โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder)
โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder) เป็นความผิดปกติทางจิต เป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่มีพฤติกรรมชอบเก็บสิ่งของต่าง ๆ ไว้ โดยผู้ป่วยมักจะรู้สึกไม่สบายใจ เสียดาย หากต้องทิ้งสิ่งของที่เก็บไว้ คิดว่าของเหล่านั้นยังมีประโยชน์ที่สามารถเก็บไว้ใช้งานในอนาคตได้
สาเหตุของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ
โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคนี้จะเริ่มมีอาการมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และอาการจะแสดงชัดเจนเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป เพราะในช่วงวัย 30 ปี ข้าวของเครื่องใช้จะเยอะขึ้น และเริ่มแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยไม่ยอมทิ้งอะไรเลย โดยจะเก็บเอาไว้จนรกบ้าน เพราะคิดว่าของเหล่านั้นยังมีประโยชน์ต่อตนเองอยู่
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
นิสัยส่วนตัว
คนที่เป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของมักมีนิสัยตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่มีทักษะแก้ปัญหาและจัดระเบียบ จึงไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรกับของที่ไม่จำเป็น บางคนอาจมีนิสัยชอบซื้อของไม่จำเป็นมาตุนไว้โดยไม่ยั้งคิด เมื่อสะสมมาก ๆ อาจทำให้กลายเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ
บางคนอาจมีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ซึ่งไม่ชอบความผิดพลาด และคิดว่าการตัดสินใจและการวางแผนจัดการสิ่งของต่าง ๆ ล่วงหน้าเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงมีแนวโน้มเก็บสิ่งของต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด
ครอบครัวและประสบการณ์ในวัยเด็ก
หากครอบครัวขัดสนเรื่องเงิน ไม่สามารถซื้อของที่อยากได้ในวัยเด็ก เคยถูกขโมยของหรือนำของที่รักไปทิ้ง หรือถูกผู้ปกครองทอดทิ้ง ทำให้ไม่ได้รับสิ่งของที่จำเป็นในการใช้ชีวิต อาจทำให้เป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของได้ นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนอื่น
เหตุการณ์อันเลวร้าย
เหตุการณ์อันเลวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจอาจทำให้เกิดโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ เช่น
- การหย่าร้าง คนที่รักเสียชีวิต และการสูญเสียทรัพย์สินจากไฟไหม้
- การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุรุนแรง
- การถูกทำร้ายร่างกาย กลั่นแกล้ง เหยียดเชื้อชาติและสีผิว
โรคประจำตัว
การได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง โรคทางจิต เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลัวการเข้าสังคม โรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (PWS) และการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจเกี่ยวข้องกับโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ
แนวทางการรักษาโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม เป็นจิตบำบัดรูปแบบหนึ่งที่นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วย อาจเป็นการให้เหตุผลและอื่น ๆ เพื่อหาวิธีปรับความคิดและพฤติกรรมชอบเก็บของจำนวนมากผิดปกติ รวมทั้งแนะนำวิธีการจัดเก็บสิ่งของอย่างเป็นระเบียบ และแนวทางป้องกันการสะสมสิ่งของเพิ่มเติมในภายหลัง
การใช้ยา
ในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของโดยตรง แพทย์อาจให้ยาต้านเศร้า เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI และกลุ่ม SNRI ซึ่งใช้รักษาอาการทางจิตอื่น ๆ และอาจช่วยในการรักษาชอบเก็บสะสมสิ่งของได้
โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของจัดเป็นโรคทางจิตเวชที่ควรได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยจิตแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมในการเก็บสะสมสิ่งของที่มากผิดปกติ ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย ปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และผลเสียต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
อ้างอิงจาก: https://www.pobpad.com /โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ-hoarding
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30429
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article article/ชอบเก็บสะสมสิ่งของ-ถือเ/