Neuralink สตาร์ตอัปด้านชิปสมองของ อีลอน มัสก์ เผยว่าปลูกถ่ายชิปในสมองผู้ป่วยรายที่สองเรียบร้อยแล้ว
เป็นรายงานล่าสุดมาจาก นิวรัลลิงก์ (Neuralink) สตาร์ตอัปด้านชิปสมองของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เผยว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายชิปสมองให้กับผู้ป่วยรายที่สอง ซึ่งชิปดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมา เพื่อช่วยผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตในการควบคุมอุปกรณ์เทคโนโลยีภายนอกได้ โดยใช้เพียงแค่ความคิด กระบวนการผ่าตัดของ นิวรัลลิงก์ (Neuralink) จะใช้หุ่นยนต์ช่วยวางส่วนต่อประสานระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์ ในพื้นที่สมองส่วนควบคุมการสั่งการเคลื่อนไหว แล้วส่งข้อมูลนั้นไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อถอดรหัสเปลี่ยนความคิดให้เป็นการกระทำ ซึ่งถ้าหากบริษัทสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการฝังชิปในสมองได้สำเร็จ ก็อาจปูทางไปสู่การช่วยให้มนุษย์ สามารถใช้สัญญาณประสาทเพื่อควบคุมเทคโนโลยีภายนอก ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางการเคลื่อนไหวและการสื่อสารต่าง ๆ สามารถฟื้นฟูความสามารถที่สูญเสียไป เช่น การมองเห็น การเคลื่อนไหว และการสื่อสารด้วยการพูดได้ โดยก่อนหน้านี้ บริษัทประสบความสำเร็จในการทดลองฝังชิปสมองของผู้ป่วยรายแรก โนแลนด์ อาร์บอห์ (Noland Arbaugh) ซึ่งเคยออกมาสาธิตการเล่นเกมหมากรุกบนคอมพิวเตอร์ ท่องอินเทอร์เน็ต โพสต์โซเชียลมีเดีย และเลื่อนเคอร์เซอร์บนแล็ปท็อปของเขาได้ โดยไม่ต้องสัมผัสกับอุปกรณ์ใดๆ
ส่วนการเปิดเผยความคืบหน้าการล่าสุดนี้ มาจากรายการพอดแคสต์ของ เล็กซ์ ฟรีดแมน (Lex Fridman) นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ให้รายละเอียดเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผู้ร่วมทดสอบรายที่ 2 นอกเหนือจากระบุว่าบุคคลดังกล่าว มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังคล้ายกับผู้ป่วยรายแรก ที่เป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุการดำน้ำ มัสก์กล่าวว่าอิเล็กโทรดของประสาทเทียม 400 เส้น บนสมองของผู้ป่วยรายที่สองและตัวอุปกรณ์สามารถทำงานได้อย่างดี ซึ่งจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ นิวรัลลิงก์ (Neuralink) เผยว่าอุปกรณ์นี้จะใช้อิเล็กโทรดมากถึง 1,024 เส้น ทั้งนี้มัสก์ไม่ได้ระบุว่า บริษัทได้ทำการผ่าตัดผู้ป่วยรายที่สองเมื่อใด แต่มีการเผยว่าบริษัทเตรียมจะจัดหาอุปกรณ์ปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยอีก 8 รายในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองทางคลินิก และอาจเป็นเพียงแค่ก้าวแรก ๆ บนเส้นทางสู่เป้าหมายของบริษัท เพื่อรวบรวมข้อมูล และทดสอบความปลอดภัยอย่างเข้มข้นอีกหลายขั้นตอน ก่อนที่จะได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานจริงต่อไป