เพียง 46 วินาที ก็รู้แล้วว่านี่ไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่เธอจะสู้ได้
แองเจลา คารินี คือนักมวยหญิงทีมชาติอิตาลีที่เตรียมตัวอย่างดีเพื่อหวังลุ้นเหรียญมวยสากลสมัครเล่นในรุ่นเวลเตอร์เวทของ "ปารีส 2024" แต่การขึ้นชกของเธอจบลงภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที
คู่ชกของเธอในวันนี้คือ ไอมาเน เคลิฟ นักชกสาวทีมชาติแอลจีเรีย ผู้ถูกตั้งข้อกังขามาตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน เริ่มต้นที่เคลิฟเคยถูกตรวจพบว่ามีโครโมโซมชาย (XY) ในร่างกาย ซึ่งหมายความว่าในทางร่างกายแล้วเคลิฟคือผู้ชาย ทำให้เธอถูกตัดสิทธิ์จากรายการมวยชิงแชมป์โลกที่จัดโดย AIBA ที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดียเมื่อปีกลาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแข่งมวยในโอลิมปิกครั้งนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการให้เคลิฟลงแข่งขันในรุ่นเวลเตอร์เวทหญิง รวมถึงหลิน หยูถิง นักมวยทีมชาติไต้หวันที่เจอคำครหาแบบเดียวกัน
เรื่องนี้มีการทักท้วงจากหลายฝ่ายว่าไม่ควรอนุญาตให้นักกีฬาที่มีปัญหาเรื่อง "คุณสมบัติ" เข้าแข่งขัน เพราะการอนุญาตให้คนที่สงสัยว่าเป็นผู้ชายขึ้นชกกับผู้หญิงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก ร่างกายของผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิงในเรื่องพละกำลัง ความแข็งแกร่ง ความเร็ว และอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมบนเวทีได้
เมื่อเสียงระฆังดัง เคลิฟเดินหน้าเข้าใส่ก่อนปล่อยหมัดขวาเข้าที่ใบหน้าของคารินี และเตรียมรัวหมัดใส่ต่อเนื่อง นักมวยสาวอิตาลียกมือขึ้น ผู้ตัดสินให้เธอกลับเข้ามุมไปเช็คเฮดการ์ด หลังจากพูดคุยกับโค้ชแล้ว คารินีกลับมาที่กลางเวทีเพื่อชกต่อ แต่ไม่ทันไรเธอโดนหมัดขวาของเคลิฟเข้าอีกครั้ง คารินียกมือขึ้นอีกครั้งก่อนหันหลังกลับเข้ามุม ขอถอนตัวจากการแข่งขัน ทำให้เคลิฟเป็นฝ่ายชนะได้รับการชูมือในไฟต์นี้
คารินีคุกเข่าหลั่งน้ำตาอยู่กลางเวที เคลิฟพยายามที่จะสวมกอดและจับมือกับคารินีแต่ถูกปฏิเสธ นักมวยสาวชาวอิตาลีให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นว่าเธอยอมแพ้เพราะหมัดที่โดนต่อยนั้นเจ็บมาก และมีรายงานว่าดั้งจมูกของเธอหักด้วย (ยังไม่ยืนยัน) "ฉันทำเพื่อประเทศชาติด้วยความภักดีมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้ฉันสู้ต่อไม่ไหวจริงๆ" คารินีกล่าว
ขณะที่ก่อนหน้าไฟต์นี้ สมาคมมวยแอลจีเรียออกมาตอบโต้กระแสโจมตีว่า "ไม่มีที่มาที่ไป" และยืนยันว่าเคลิฟเป็นทูตของ UNICEF ที่เพิ่งเข้าวงการมวยเพราะก่อนหน้านี้พ่อไม่ยอมให้ลูกสาวชกมวย เคลิฟเคยลงแข่งในโอลิมปิกที่โตเกียวมาแล้วด้วย
เรื่องนี้จะเป็นประเด็นใหญ่ที่สะเทือนวงการกีฬาอีกครั้ง ถึงเส้นแบ่งที่ชัดเจนอยู่ตรงไหนระหว่างนักกีฬาหญิงกับนักกีฬาทรานส์หรือที่ต้องสงสัยว่าเป็นชาย หากที่ทำอยู่ถูกต้องแล้ว ผู้ดูแลคงต้องมีคำอธิบายที่ดีและชัดเจนพอ เพื่อให้ความยุติธรรมกับคนที่ถูกกล่าวหาและยืนยันกระบวนการว่าถูกต้องโปร่งใส
AIBA ที่ถูกตัดขาดจากโอลิมปิก เคยออกมาตั้งข้อสงสัยในเกณฑ์ของการแข่งครั้งนี้ที่ "ไม่ตรวจฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน" และใช้เกณฑ์พิจารณาที่ไม่ได้มีการเปิดเผย เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะมีกรณีแบบคารินีเกิดขึ้นอีกในอนาคต














