เอราโตสเทแนส (Eratosthenes) คือคนที่คำนวณเส้นรอบวงของโลกได้ด้วยท่อนไม้ เมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว
บอกไปใครจะเชื่อว่าเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว มีคนคำนวณเส้นรอบวงของโลกได้ใกล้เคียงกับความจริงด้วยท่อนไม้ได้ โดยย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2,200 ปีก่อน เอราโตสเทแนส (Eratosthenes) บิดาแห่งภูมิศาสตร์ชาวกรีกโบราณได้ยินมาว่าในเมืองซะฮิอีนิของอียิปต์ มีตำนานที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ่อน้ำที่ไม่มีเงา ในตอนเที่ยงตรงที่ดวงอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะ ดวงอาทิตย์จะอยู่กลางบ่อน้ำพอดี โดยที่ไม่มีเงาของขอบบ่อน้ำแม้แต่นิดเดียว ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน หรือวันครีษมายัน
ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์โคจรจนไปถึงจุดหยุดคือจุดสุดทางเหนือ ทำให้มีกลางวันยาวนานที่สุด และเขาก็สงสัยว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในเมืองอเล็กซานเดรียที่เขาอาศัยอยู่หรือไม่ เอราโตสเทแนสได้สังเกตปรากฏการณ์นี้กับเสาหินในเมืองอเล็กซานเดรียในวันและเวลาเดียวกัน ปรากฏว่ามีเงาทอดลงมาไปทางใต้เล็กน้อย นั่นแสดงว่าพื้นผิวของโลกมีการโค้งงอ เพราะดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับตำแหน่งหนึ่งบนโลก แต่กลับไม่ตั้งฉากกับตำแหน่งอื่นๆ จริงๆแล้วมีชาวกรีกจำนวนหนึ่งทราบอยู่แล้วว่าโลกกลมจากการศึกษาดวงดาว แต่เอราโตสเทแนสเหนือไปกว่านั้น เพราะเขาพยายามใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในการคำนวณหาเส้นรอบวงของโลก เมื่อเขาปักแท่งไม้เอาไว้ทั้ง 2 เมือง
แล้ววัดความความยาวเงาในช่วงเวลาเดียวกัน สิ่งที่เขาพบก็คือมันมีความยาวที่แตกต่างกัน 7.2 องศา นั่นหมายความว่าทั้งสองเมืองจะมีระยะห่างกัน 7.2 องศา จากพื้นผิวโลกทรงกลมที่มี 360 องศา ต่อมาเขาได้จ้างชายคนหนึ่งให้เดินทางระหว่างสองเมืองและค้นพบว่า เมืองทั้งสองอยู่ห่างกัน 5,000 สเตเดียหรือประมาญ 800 กิโลเมตร แต่ก็มีแนวโน้มว่าเขาทราบเรื่องระยะทางอยู่แล้วจากการเดินทางไปกับกองคาราวาน จากนั้นเขาก็ใช้สูตรง่ายๆในการคำนวณคือ 7.2 องศาจะเท่ากับ 1:50 ของ 360 องศา และนำ 50 ไปคูณกับ 5,000 สเตดีย ก็จะได้คำตอบคือ 250,000 สเตเดีย หรือเท่ากับ 40,000 กิโลเมตร ซึ่งเส้นรอบวงของโลกที่แท้จริงก็คือ 40,075 กิโลเมตร
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า เอราโตสเทแนสที่อาศัยอยู่บนโลกเราเมื่อ 2,200 ปีก่อน จะใช้เพียงแค่ท่อนไม้กับมันสมองของเขาหาความยาวเส้นรอบวงโลกได้สำเร็จ