สะพานสมมตอมรมารคสะพานที่ชื่ออ่านยากที่สุดในประเทศไทย (ใครรู้อ่านว่าอะไร?)
"สะพานสมมตอมรมารค"สะพานที่ชื่ออ่านยากที่สุดในประเทศไทย
สะพานสมมตอมรมารค [สม-มด-อะ-มอน-มาก] เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงที่คลองบางลำพู ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ในพื้นที่แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร และแขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
เดิมสะพานนี้เป็นสะพานไม้ที่มีโครงเหล็กรองรับ สามารถชักเลื่อนออกจากกันได้ และผู้คนในละแวกนี้เรียกกันว่า "สะพานเหล็กประตูผี" เนื่องจากตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของประตูพระบรมมหาราชวัง หรือที่นิยมเรียกกันว่า "ประตูผี" ซึ่งเป็นทางที่ใช้ขนถ่ายศพของผู้เสียชีวิตในพระบรมมหาราชวังออกมาปลงศพด้านนอกในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สะพานนี้มีความทรุดโทรมอย่างมาก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะใหม่ โดยสร้างเป็นสะพานปูนปั้นเสริมโครงเหล็กและพระราชทานชื่อว่า "สะพานสมมตอมรมารค" ในปี พ.ศ. 2455 เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระอนุชา ซึ่งเป็นต้นราชสกุลสวัสดิกุล โดยมีความหมายว่า "สะพานของพระราชา" สะพานนี้มีความยาว 23 เมตร กว้าง 7.50 เมตร และมีลูกกรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบไอโอนิก
หลังจากสร้างสะพานใหม่แล้ว ย่านนี้ได้เปลี่ยนชื่อจาก "ประตูผี" เป็น "สำราญราษฎร์" เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ผู้คนย้ายมาอยู่อาศัยมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนเก่าแก่ คือ "ชุมชนบ้านบาตร" ซึ่งชาวชุมชนมีอาชีพทำบาตรพระด้วยมือและยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
บริเวณสะพานสมมตอมรมารคใกล้กับแยกสำราญราษฎร์ เป็นแหล่งรวมร้านอาหารที่ได้รับความนิยมและคึกคักอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงค่ำคืน และเชิงสะพานฝั่งเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายติดกับแยกเมรุปูน อันเป็นทางแยกที่ตัดกันระหว่างถนนบำรุงเมืองกับถนนบริพัตร
ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณแยกเมรุปูนเคยเป็นที่ตั้งของเมรุเผาศพที่สร้างด้วยปูน สำหรับปลงศพเจ้านายชั้นรองและขุนนางต่าง ๆ ต่อมาได้ถูกรื้อออก เนื่องจากมีการสร้างเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส และพื้นที่ของเมรุปูนได้กลายมาเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสารพัดช่างพระนคร และวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครในปัจจุบัน