การเป็นคนขี้อิจฉาอย่างสร้างสรรค์
ได้อ่านหนังสือ หาเรื่อง (ดี ๆ ) ใส่ตัว ของคุณประภาส ทองสุข มีอยู่บทหนึ่งที่กล่าวถึงการเป็นคน "ขี้อิจฉาอย่างสร้างสรรค์" รู้สึกชอบในคำนี้มาก จึงอยากจะนำคำนี้มาขยายความตามความเข้าใจของตัวเองบ้าง
ขี้อิจฉาอย่างสร้างสรรค์
ความอิจฉา หมายถึง อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดความไม่พอใจ ความอยากได้ ความอยากมีเหมือนเช่นคนอื่น
สร้างสรรค์ หมายถึง การคิด การริเริ่มทำในสิ่งที่ดี
เมื่อพูดถึงคำว่า อิจฉา เรามักจะคิดถึงคำนี้ในแง่ลบ แต่การเป็นคนขี้อิจฉาอย่างสร้างสรรค์ กลับเป็นการนำคำว่า “อิจฉา” ที่แสดงถึงในเชิงลบ และคำว่า “สร้างสรรค์” ที่แสดงถึงในเชิงบวก มาผสมผสานรวมกันได้อย่างลงตัว ทั้งยังส่งผลในเชิงบวกอีกด้วย
เมื่อคุณเกิดรับรู้ว่าคุณอิจฉา นั้นคือการแสดงให้เห็นว่า คุณมีสติ ที่สามารถจับอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาได้ เมื่อคุณรู้ว่า ความอิจฉานั้นเกิดขึ้น แล้วคุณหาทางดับความอิจฉานั้นด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นว่า ตัวคุณได้ก้าวข้ามพลังงานลบนั้นไป โดยการนำพลังงานบวกมาหักล้างความรู้สึกอิจฉานั้นออกไปแทน ใช้พลังแห่งการสร้างสรรค์มาเป็นตัวช่วย เป็นตัวผลักดันให้คุณก้าวข้ามอารมณ์อิจฉานั้นไปได้
การดำเนินชีวิตโดยใช้พลังงานบวก มาดับพลังงานลบนั้น ย่อมส่งผลดีกว่าการที่คุณนั้นกักเก็บพลังงานลบนั้นไว้กับตัวและใช้พลังงานลบนั้นในการดำเนินชีวิต เพราะสุดท้ายแล้ว คุณจะเป็นเพียง คนขี้อิจฉา ที่ได้แต่อิจฉา แต่ไม่ทำอะไรเลย
แต่หากคุณเป็นคนขี้อิจฉาอย่างสร้างสรรค์ คุณจะเป็นคนขี้อิจฉาที่ก้าวข้าม ความอิจฉา และขีดความสามารถของตนเองไปได้
ความอิจฉานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่คุณสามารถหาวิธีในการหยุดความอิจฉานั้นได้ ด้วยสิ่งดี ๆ อย่างการสร้างสรรค์
เครดิตหนังสือ ประภาส ทองสุข. (2554). หาเรื่อง (ดี ๆ ) ใส่ตัว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์.