ที่มาของคำว่า " เหงียน " ในชื่อของคนเวียตนาม
เชื่อว่าเรื่องนี้คงมีคนสงสัยกันอยู่ไม่น้อย เพราะได้ยินในชื่อคนเวียตนามบ่อยมาก งั้นมาดูที่มากันครับ ถ้าพูดถึงคนที่มีนามสกุลเหงียน (Nguyen) เชื่อว่าคุณจะต้องคิดถึงคนเวียดนามหรือคนที่มีเชื้อสายเวียดนาม เพราะนามสกุลเหงียน เป็นนามสกุลที่เรียกได้ว่ายอดนิยมมากที่สุดของเวียดนาม ปัจจุบันเวียดนามมีประชากรที่มีนามสกุลเหงียนมากถึง 40% และถ้านับทั่วโลก ก็จะมีประชากรนามสกุลเหงียนเกือบ 40 ล้านคน จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 5 ถึง 10
ในตอนนั้นเป็นช่วงที่จีนเกิดสงครามภายใน ทำให้มีชาวจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวจีนในแถบตอนใต้ อพยพมายังเวียดนามเพื่อหนีภัยสงคราม โดยชาวจีนที่อพยพมานี้ ก็มีชาวจีนกลุ่มที่พูดภาษาจีนสำเนียงกวางตุ้ง ที่มีนามสกุลหรือแซ่หร่วน แซ่หร่วนเมื่ออ่านแบบเวียดนาม ก็จะกลายเป็นคำว่า เหงียน หรือถ้าเป็นคำที่คนไทยคุ้นเคย มันก็คือคำว่า ญวน นั่นเอง และนี่แหละก็คือที่มาของนามสกุลเหงียนของเวียดนาม อย่างที่เราทราบ ในอดีตเวียดนามเคยถูกปกครองโดยราชวงศ์ต่างๆที่ผลัดเปลี่ยนไปมา เมื่อใดก็ตามที่ราชวงศ์ใหม่สามารถโค่นล้มราชวงศ์เก่าได้ ราชวงศ์ใหม่ก็จะบังคับให้คนของราชวงศ์เก่า เปลี่ยนมาใช้นามสกุลเหงียน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อราชวงศ์เจิ่น (Tran) ครองอำนาจในปี 1232 ราชวงศ์เจิ่นก็บังคับให้คนตระกูลลี๊ (Ly) ซึ่งเป็นราชวงศ์เดิม เปลี่ยนมาใช้นามสกุลเหงียนให้หมด ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นนามสกุลเหงียน เอาเข้าจริง ๆ ก็ยังไม่สามารถหาเหตุผลได้ชัดเจน แต่ที่มั่นใจก็คือ ที่ต้องเปลี่ยนนามสกุลนั้น ก็เพราะเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันไม่ให้คนจากราชวงศ์ก่อนกลับมาแก้แค้นได้นั่นเอง และเมื่อถึงช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อราชวงศ์เหงียนของคนตระกูลเหงียนครองอำนาจในเวียดนาม คนที่มีส่วนต่อการก่อตั้งราชวงศ์เหงียน ก็จะได้รับพระราชทานนามสกุล และนามสกุลเหงียนก็เป็นนามสกุลยอดนิยมที่ผู้คนอยากจะใช้
เพราะกฎหมายในสมัยนั้น ผู้ที่มีนามสกุลเหงียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคมมากมาย รวมถึงยังใช้หลีกเลี่ยงการถูกจับกุมจากการกระทำความผิดได้ด้วย และเมื่อถึงยุคที่เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสทำการสำรวจประชากร ก็พบว่ายังมีคนเวียดนามอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีนามสกุล ดังนั้นนามสกุลที่คนกลุ่มนี้จะได้ใช้ ก็หนีไม่พ้นนามสกุลเหงียน กลายเป็นว่ายิ่งทำให้คนเวียดนามมีนามสกุลเหงียนเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นนามสกุลหลักของคนเวียดนามจนถึงปัจจุบันนั่นเอง