อุโมงค์เก็บน้ำใต้ดินอันลึกลับในใจกลาง"อิสตันบูล"
อุโมงค์เก็บน้ำเยเรบาตัน (Basilica Cistern) เป็นอ่างเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่สามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 88,000 ลูกบาศก์เมตร ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 6 ในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ อุโมงค์เก็บน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี
อุโมงค์เก็บน้ำเยเรบาตันเคยถูกใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำหลักของกรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูลในปัจจุบัน) มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ก่อนที่จะถูกค้นพบโดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1545 โดยนักวิจัยชาวฝรั่งเศส Peter Gylius ขณะที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับซากปรักหักพังและโบราณสถานของยุคไบแซนไทน์ โดยทางการตุรกีก็ได้เข้ามาปรับปรุงบูรณะครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1985 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมครั้งแรกในวันที่ 9 กันยายน ปี ค.ศ. 1987 จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองอิสตันบูล โดยบรรยากาศภายในอุโมงค์นั้นจะเงียบสงบ ลึกลับ และน่าค้นหา มีการจัดแสดงแสงสีเสียงที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับอุโมงค์เก็บน้ำเยเรบาตันแห่งนี้
ท่ามกลางเสากรีกขนาดใหญ่ 336 ต้นที่ค้ำเรียงรายเป็นทิวแถว จะมีเสาที่โดดเด่นงดงามสะดุดตาต่างจากเสาอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษนั่นคือ เสาหยดน้ำตา (The Column of Tears) และ เสาเมดูซ่า (Medusa) โดยเสาหยดน้ำตา จะเป็นเสาหินอ่อนที่มีลายแกะสลักเป็นรูปหยดน้ำตา ตามความเชื่อที่ว่าหยดน้ำตาจากดวงตาของเหล่าทาสนับร้อยที่เสียชีวิตขณะก่อสร้างอุโมงค์เก็บน้ำแห่งนี้ ส่วนเสาเมดูซ่ามีจำนวน 2 ต้น คือเสาเมดูซ่าแบบกลับหัว และเสาเมดูซ่าแบบตะแคงขวา โดยมีความเชื่อกรีกโบราณที่ว่า “เมดูซ่า” เป็นปีศาจเพศหญิงในโลกใต้ดินที่มีเส้นผมเป็นงู หากใครที่สบตาของเธอจะถูกสาปให้เป็นหินทันที ทั้งนี้ เชื่อกันว่าประติมากรรมแกะสลักศีรษะของเมดูซ่าถูกประดับไว้แบบกลับหัวหรือตะแคง เพื่อเป็นการแก้เคล็ดและให้ปกป้องสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างอุโมงค์เก็บน้ำเยเรบาตัน