ราชวงค์สุดท้ายของพม่า
ราชวงศ์อลองพญา หรือ ราชวงศ์คองบอง เป็นราชวงศ์ที่ 3 ในประวัติศาสตร์พม่า และเป็นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร และสิ้นสุดการปกครองระบอบราชาธิปไตยของพม่าราชวงศ์อลองพญานั้นได้รับการสถาปนาขึ้นโดยการเสวยราชสมบัติของพระเจ้าอลองพญาในปี พ.ศ. 2295
พระองค์สามารถขับไล่ชาวมอญและยึดครองอาณาจักรมอญได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2302 ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ตองอู ทั้งยังสามารถกลับเข้ายึดครองเมืองมณีปุระได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ทรงสถาปนาเมืองชเวโบขึ้นเป็นราชธานี ก่อนจะย้ายไปที่อังวะ และทรงพัฒนาเมืองย่างกุ้ง หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ขึ้นเป็นเมืองท่าสำคัญ และกลายเป็นเมืองหลวงในเวลาต่อมาต่อมา
พระเจ้าอลองพญาได้ทรงนำทัพบุกอาณาจักรอยุธยา เนื่องจากทางอยุธยาได้ให้การสนับสนุนมอญที่ลี้ภัยสงครามเข้ามาพึ่งบารมีกษัตริย์ไทย ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ และไม่พอใจที่ไทยยึดเรือสินค้าที่จะเดินทางมาค้าขายกับพม่าที่เมืองมะริด โดยเดินทัพเข้ามาทางด่านสิงขร ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จและสิ้นพระชนม์หลังจากการทำสงครามครั้งนั้น
พระเจ้ามังระผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของพระราชบิดาต่อ โดยได้ส่งทัพใหญ่มา 2 ทางล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2307 ทางหนึ่งให้เนเมียวสีหบดีนำพลเข้ามาทางเหนือด้วยการตีล้านนา ล้านช้างและหัวเมืองเหนือก่อน และอีกทางหนึ่งให้มังมหานรธานำกองทัพเข้ามาทางใต้ ทั้ง 2 ทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้นานถึง 1 ปีครึ่ง
แม้ผ่านฤดูน้ำหลากก็ไม่ยกทัพกลับ ภายหลังแม่ทัพฝ่ายใต้ คือ มังมหานรธาจะเสียชีวิตลง ก็ส่งแม่ทัพคนใหม่จากเมืองเมาะตะมะชื่อเมงเยเมงละอูสะนาเข้ามาทำหน้าที่แทน จนในที่สุดก็สามารถตีกรุงศรีอยุธยาแตกได้ในปี พ.ศ. 2310
แต่กองทัพพม่าก็อยู่ไม่นาน เนื่องจากพระเจ้ามังระทรงให้เร่งทำการและรีบกลับเพื่อทำสงครามกับจีนในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงถึงแม้อาณาจักรอยุธยาจะถูกทำลายราบคาบก็ตาม แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงสถาปนาศูนย์กลางอำนาจขึ้นมาใหม่ที่กรุงธนบุรี
พระเจ้ามังระจึงทรงส่งแม่ทัพคนใหม่มา คือ อะแซหวุ่นกี้ นำทัพใหญ่เข้ามาปราบปรามฝ่ายธนบุรีในปี พ.ศ. 2318 อะแซหวุ่นกี้สามารถตีหัวเมืองพิษณุโลกแตก และกำลังจะยกทัพตามลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ต้องยกทัพกลับเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้ามังระ ในปี พ.ศ. 2319
จากนั้นก็เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันเองราว 4 - 5 ปี ก่อนที่จะกลับมามีความมั่นคงขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง พระองค์ทรงยกทัพเข้าตีดินแดนยะไข่ ได้สำเร็จ ซึ่งไม่เคยมีกษัตริย์พม่าพระองค์ใดทำได้มาก่อน ทำให้พระองค์เกิดความฮึกเหิม ยกกองทัพใหญ่มาถึง 9 ทัพ 5 เส้นทาง ที่เรียกว่า สงครามเก้าทัพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
แต่ไม่ประสบความสำเร็จในรัชสมัยพระเจ้าจักกายแมง พม่าได้ยึดครองแคว้นอัสสัมของอินเดียได้สำเร็จ ทำให้พม่าต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดิอังกฤษซึ่งกำลังล่าอาณานิคมอยู่ในขณะนั้น ก่อให้เกิดเป็นสงครามที่เรียกว่า "สงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 1" กินระยะเวลา 2 ปี คือ พ.ศ. 2367 - พ.ศ. 2369 สงครามจบลงด้วยชัยชนะอย่างงดงามของอังกฤษด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่าในทุก ๆ ด้าน
มหาบัณฑุละ แม่ทัพพม่าที่เลื่องชื่อก็จบชีวิตลง ทำให้ต้องลงนามในสนธิสัญญาชื่อ สนธิสัญญายันดาโบ (Yandabo) พม่าจำต้องยกเมืองที่สำคัญให้แก่อังกฤษ เช่น มณีปุระ ยะไข่ ตะนาวศรี
ต่อมา ได้มีการละเมิดสนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้เกิดสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 2 และก็จบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษอีกเช่นเคย ในรัชสมัยของพระเจ้ามินดง พระองค์พยายามที่จะฟื้นฟูความเข้มแข็งของอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้ง โดยสถาปนามัณฑะเลขึ้นเป็นราชธานี มีการสร้างพระราชวังอย่างใหญ่โต แต่ในรัชสมัยของพระโอรสของพระองค์ คือ พระเจ้าสีป่อ พระองค์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศไว้ได้ ทำให้นำไปสู่การทำสงครามกับอังกฤษอีกครั้ง
และครั้งนี้อังกฤษสามารถครอบครองพม่าไว้ได้หมดทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2428 และทำให้พระเจ้าสีป่อเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า
อ้างอิง มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า
พม่าเสียเมือง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช