รู้เท่าทันเพื่อรับมือกับ แบคทีเรียกินเนื้อคน
จากการที่ได้ยินข่าวเรื่องแบคทีเรียกินเนื้อคนระบาดในประเทศญี่ปุ่นเมื่อตอนต้นปี จากการรายงานของสำนักข่าวต่างๆเผยถึงข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ในวันที่ วันที่ 2 มิ.ย. พบผู้ป่วยที่มีอาการช็อกจากพิษของสเตรปโตค็อกคัส (streptococcal toxic shock syndrome – STSS) โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน มากถึง 977 ราย โดยกลุ่มอาการนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% จากสถิติของทางการญี่ปุ่น พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้แล้ว 77 คน ระหว่างช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา
อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในปีนี้ยังพุ่งทำลายสถิติ 941 คนในปีที่แล้ว และเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติในปี 1999 โดยสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่นได้เผยแพร่รายงานประเมินความเสี่ยงที่พบว่า เคสผู้ป่วย “มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค. ปี 2023 และส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ เกิดขึ้นจากบาดแผลที่ผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ บาดแผลหรือรอยถลอก, แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และ แผลที่เกิดจากแมลงกัด
อาการที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับที่คุณบอยเป็น คือเกิดอาการอักเสบปวดบวมแดงรอบแผล และอาการอักเสบมีการขยายขนาดอย่างรวดเร็ว มีอาการปวดที่รุนแรง มีไข้ อ่อนเพลีย การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง หากทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ภายใน 48-72 ชั่วโมง ผู้ป่วยมักมีการตายของเนื้อเยื่อ จนเสียอวัยวะส่วนนั้น เชื้อนี้ไม่มีการป้องกันโดยตรงเช่นวัคซีน แต่เราสามารถป้องกันได้โดยหากมีบาดแผลตามร่างกาย คุณควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือปราศจากเชื้อ
จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลหรือพลาสเตอร์ เปลี่ยนผ้าปิดแผลทุกวันจนแผลหาย และที่สำคัญหากมีบาดแผลที่ยังไม่หาย ไม่ควรลงว่ายน้ำในสระน้ำหรือ แช่บ่อน้ำร้อน หรือลงว่ายน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะใดๆเพราะจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านทางบาดแผลได้นั่นเอง . . . ทุกวันนี้มีเชื้ออะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ใช้ชีวิตกันด้วยความระมัดระวังนะครับ