เจ้านางหญิงแกร่งแห่งล้านนา..ผู้แหวกม่านประเพณี
"เมื่อคิดจะรัก ต้องกล้าหักด่านฐานันดร"
เมื่อเอ่ยถึงชื่อของ "เจ้า(หญิง)อุบลวรรณา" เชื่อว่าคนทั่วไปมักไม่ค่อยคุ้นหู ผิดกับชื่อของ "เจ้าดารารัศมี" เนื่องเจ้าดารารัศมี ได้เข้ามามีบทบาท เชื่อมสายสัมพันธ์ ระหว่างล้านนากับสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะ "พระราชชายา" จากเมืองเหนือ
แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนาแล้วทันทีที่ได้ยินชื่อเจ้าอุบลวรรณา ก็เห็นภาพของนักธุรกิจหญิงเหล็ก ผู้ถนัดการเจรจาหว่านล้อม ซึ่งขัดแย้งกับภาพ เจ้านางเจ้าเสน่ห์ ผู้ถวิลหาความรักโรแมนติก อย่างสุดขั้ว
ทั้งพระราชชายา เจ้าดารารัศมี และ เจ้าอุบลวรรณา ต่างก็มีชีวิตร่วมสมัยกัน แถมยังเป็นญาติสนิทชิดเชื้อกันอีกด้วย กล่าวคือ เจ้าอุบลวรรณา มีศักดิ์เป็นน้าแท้ๆ ของเจ้าดารารัศมี เนื่องจากเป็นน้องสาวของเจ้าแม่ทิพเกสร พระมารดาของเจ้าดารารัศมี ไม่มีบันทึกหลักฐานถึง วันเดือนปีเกิด และ วันพิราลัย ที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดปี พ.ศ.2388 อันเป็นการคำนวนจาก หลักฐานภาพถ่าย และ คาดเดาเอาว่าน่าจะเกิดหลังพี่สาวสัก 3-4 ปี ส่วนการเสียชีวิตนั้นยังเป็นปมปริศนา
จากเจ้าหญิงผู้เฉิดฉายในวงสังคมเชียงใหม่ อยู่ๆ เรื่องราวข่าวคราวก็เงียบหายไปดื้อๆ แถม ดร.ชี้ก (Dr.Cheek) หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน หนึ่งในเพื่อนที่สนิทสนมกับเจ้าหญิง ยังเปิดเผยว่า “เจ้าอุบลวรรณา ถูกปลิดชีพด้วยยาพิษ” แต่ไม่ระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย หรือ ใครลอบทำร้าย
เจ้าอุบลวรรณา ถือเป็นราชธิดาองค์รองของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 (2399-2413) แต่ชาวล้านนานิยมเรียกว่า "เจ้าชีวิตอ้าว" ทั้งนี้ เพราะ หากหลุดคำว่า "อ้าว!" ออกมากับใครเมื่อไรหมายความว่าอ้ายอีผู้นั้น "งานเข้า" ถึงขั้นหัวขาด! ส่วนพระมารดาของเจ้าอุบลวรรณาคือ"แม่เจ้าอุสาห์" หรือ "อุษาเทวี" ต่อมา เจ้าทิพเกสร พี่สาวได้เป็นชายาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ทำให้เจ้าอุบลวรรณามีศักดิ์เป็น "เจ้าน้า" ของ "หญิงอึ่ง" หรือเจ้าดารารัศมี และ เมื่อเจ้าพี่ทิพเกสร จากโลกนี้ไปในปี พ.ศ.2427เจ้าอุบลวรรณาได้รับหลานสาว คือ เจ้าดารารัศมี มาอุปการะ
เส้นทางชีวิตรักของน้า-หลานร้าวรันทดไม่ต่างกันฝ่ายหลานถูกส่งไป ถวายตัวกับพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ท่ามกลางมเหสี หม่อมห้ามนางในนับร้อย ส่วนฝ่ายน้า ก็ตกพุ่มหม้ายตั้งแต่ยังสาวแสวงหารักอีกกี่ครั้ง ก็จบลงด้วยความไม่สมหวัง
พระนางมีพระบิดาเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 มีพี่เขยเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ในวัยเด็กเคยติดตามเจ้าพ่อไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามหลายครั้ง เติบโต และ ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางชนชั้นปกครองสูงสุดของเมืองเชียงใหม่ซะขนาดนั้น จะไม่ให้กลายเป็น "หญิงมั่น" อย่างไรไหว
เจ้าอุบลวรรณาเป็นสตรีที่มีบุคลิกงามสง่า พูดภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อ ขยับทำอะไรแม้เพียงนิดเดียวก็มักเป็นข่าวเกรียวกราว ไม่ว่าจะเปิดโรงงานทอผ้าด้วยการออกแบบลวดลายผ้าทอ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เอง หรือความที่ชอบคลุกคลีสนิทสนมกับ เหล่ามิชชันนารี ใจป้ำถึงขนาดเคยให้ อาคันตุกะต่างถิ่น ยืมช้างทรงพร้อมควาญ และ อุปกรณ์ล่าสัตว์ ไปใช้ท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชน จนบางรายขอยืมเป็นเดือน ไปไกลถึงเขตพม่า เชียงตุง ก็ไม่เคยหวงของ เล่นเอาพระประยูรญาติต่างใจหายใจคว่ำ เกรงว่า เจ้าอุบลวรรณา อาจจะยอม "รับเชื่อ" เป็น คริสเตียน เข้าสักวันหนึ่ง
นอกจากจะน้ำใจกว้างขวาง ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงกล้าจำนรรจากับฝรั่งมั่งค่าแล้วจากบันทึกในหนังสือเรื่อง "เดินทางหนึ่งพันไมล์บนหลังช้างในรัฐฉาน" (A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States) เผยแพร่ปี พ.ศ.2433 เขียนโดยนายวาณิชชาวอเมริกันชื่อ "ฮอลต์ แฮลเล็ต" (Holt Hallett) ได้กล่าวถึง เจ้าอุบลวรรณาว่า "เป็นเจ้าหญิงที่ฉลาดเฉลียว เจ้าเสน่ห์ พูดเก่ง ความจำดี ชอบเล่าเรื่องประวัติศาสตร์โบราณให้ชาวต่างชาติฟังอย่างสนุกสนาน สามารถจดจำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่น เรื่องพระนางจามเทวีมาถ่ายทอดอย่างออกรสชาติ" หากเรียกเป็นภาษาสมัยก่อนก็หนีไม่พ้นตำแหน่ง "ดาวสังคม" แต่ภาษาสมัยนี้ก็ต้องใช้ว่าเป็นเซเล็บ"
นอกจากจะอยู่ในฐานะ "เซเล็บ" แล้วเจ้าอุบลวรรณายังมี "อาณาจักรทางการค้า" อันไพศาลเป็นของตนเอง คล้ายกับ "แม่เลี้ยง" ในยุคนี้
นอกเหนือจากโรงทอผ้าซิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานถนัดของกุลสตรีศรีล้านนาแล้ว เจ้าอุบลวรรณายังคุมกิจการพาณิชย์ แข่งขันกับพ่อค้าชาย ทั้งชาวล้านนา อังกฤษ และพม่า อีกหลายกิจการ อาทิ ธุรกิจค้าไม้ โรงงานไม้แกะสลัก โรงผลิตเครื่องเขิน การค้าทางไกลกับพ่อค้าวัวต่าง (ทั้งจีนฮ่อ ไทใหญ่) การยื่นความจำนงขอรับสัมปทานรางรถไฟ และโรงต้มเหล้า
ชีวิตส่วนตัวของเจ้าอุบลวรรณานั้น กลับขลุกขลักไม่ประสบความสำเร็จต่างไปจากความเป็นมืออาชีพด้านธุรกิจ ทรงอยู่ในฐานะหม้ายตั้งแต่วัยสาว สมรสครั้งแรกกับ "เจ้ามหาวงศ์" ไม่มีการบันทึกถึงสาเหตุแห่งการหย่าร้าง ว่าอย่างไร และเมื่อไหร่ ทราบแต่เพียงคร่าวๆ จากรายงานของหมอสอนศาสนา "แดเนียล แมกกิลวารี" (Daniel Mc Gilvary) ว่า ปี พ.ศ.2425 เมื่อแรกรู้จักกับเจ้าอุบลวรรณา ก็อยู่ในฐานะหม้ายแล้ว (หากสมภพในปี 2388 จริง ตอนนั้นก็น่าจะมีอายุราว 37 ชันษา) นอกจากนี้ ยังระบุว่าธิดาสาวองค์โตของเจ้าอุบลวรรณากำลังให้กำเนิดบุตร ก็แสดงว่า เจ้าอุบลวรรณา มีฐานะเป็น "ยาย" ในวัยเพียง 37 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนยุคนั้น ที่นิยมให้ลูกสาวแต่งงานในวัยไม่เกิน 18 ในฐานะที่แมกกิลวารีเป็นแพทย์ด้วย เขาได้บันทึกว่า เมื่อปี พ.ศ.2410 ลูกคนหนึ่ง ของเจ้าอุบลวรรณาเสียชีวิตด้วยโรคระบาด ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดนักว่า เป็นลูกหญิงหรือชาย อย่างไรก็ดี ถือเป็นหลักฐานที่ทำให้เราทราบว่า เจ้าอุบลวรรณามีบุตร-ธิดาอย่างน้อย 2 คน
ในขณะที่หนังสือเรื่อง "เดินทางหนึ่งพันไมล์ บนหลังช้าง ในรัฐฉาน" นายแฮลเล็ต กล่าวถึงการที่ เจ้าอุบลวรรณา ได้พา "เจ้าสุขเกษม" ซึ่งเป็นลูกชายคนหัวปี พร้อมด้วยหลานสาว คือเจ้าดารารัศมี ไปเยี่ยมเขา โดยเด็กทั้งสอง น่าจะมีอายุห่างกันสัก 2 ปี แสดงว่าตอนนั้นเจ้าดารารัศมีอยู่ในความดูแลของเจ้าน้า แทนที่ เจ้าแม่ ซึ่งพิราลัยแล้ว "เจ้าสุขเกษม" ที่นายแฮลเล็ต เอ่ยนามคนนี้ เป็นคนละคนกับ "เจ้าน้อยศุขเกษม" ในตำนานรักมะเมียะ ซึ่งเป็นโอรสของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย แถม นายแฮลเล็ต ยังบันทึกต่อไปอีกด้วยว่า บิดาของเจ้าสุขเกษมนั้นเป็นสามัญชน ไม่ได้มีเชื้อเจ้า จึงไม่เป็นที่ยอมรับ ของชายาพระเจ้าเชียงใหม่ (เจ้าทิพเกสร) เท่าใดนัก ส่วนธิดาของเจ้าอุบลวรรณา เพียงองค์เดียวที่เกิดจากสามีคนแรก ได้สมรสกับเจ้าสิงห์คำ ลูกคนโต ของ เจ้าราชบุตร
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แฮลเล็ต บันทึกเรื่องความรักของเจ้าอุบลวรรณา กับ ชายธรรมดา ที่ไม่ได้เป็นพวกเจ้าอีกหลายคน ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่นักประวัติศาสตร์กระแสหลัก พยายามไม่พาดพิงถึงทั้งๆ ที่น่าจะหยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ ของเจ้าหญิงใจเด็ด ที่กล้าแหกกฎมณเฑียรบาล
หลังจากเจ้ามหาวงศ์ และ พ่อของเจ้าสุขเกษมแล้ว เจ้าอุบลวรรณาก็แอบแต่งงานเงียบๆ กับพ่อค้าไม้สักชาวพม่าซึ่งเป็นคนในบังคับอังกฤษผู้หนึ่ง แต่แล้วพระประยูรญาติ ก็ใช้กฎเหล็กของฐานันดรมากีดกั้นสกัดรักครั้งที่ 3 ไปให้พ้นจากวงจรชีวิต
เจ้าอุบลวรรณาไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม ยังปลูกต้นรักใหม่ กับพ่อค้าพม่าสามัญชนอีกคน และกำลังวางแผนแอบนัดพบกันในคืนเดือนมืด แต่แล้ว หม่องผู้นั้นก็ถูกวิสามัญฆาตกรรม แบบ "ฆ่าตัดตอน" เสียก่อน เจ้าอุบลวรรณาเป็นเดือดเป็นแค้นยิ่งนักเฝ้าตามสืบหา ตัวฆาตกรด้วยความฟูมฟายอยู่นานหลายปี ในที่สุดก็ครองโสดเป็นหม้าย เนื้อหอมตลอดกาล...เจ้าอุบลวรรณานั้นไม่ใช่หญิงธรรมดา ชีวิตของท่านช่างชวนฝัน ท่านเป็นคนฉลาดและค้าขายเก่งอันดับหนึ่ง มีที่ดินมากมาย ป่าไม้สักที่กว้างใหญ่ไพศาล มีช้าง บ่าวไพร่และข้าทาส ท่านมีความรักที่ร้อนแรงดังเช่นพระอาทิตย์ในฤดูร้อน..."
เจ้าอุบลวรรณา หรือสะกดว่า อุบลวัณณา (ไทยถิ่นเหนือ: ; พ.ศ. 2385–2429) เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ เป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ประสูติแต่เจ้าอุษา เป็นน้องสาวของเจ้าทิพเกสร พระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์
เจ้าอุบลวรรณาเป็นธิดาองค์เล็กของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 กับเจ้าอุษา เป็นขนิษฐาร่วมอุทรกับเจ้าทิพเกสร ทั้งนี้ไม่มีการบันทึกเกี่ยวกับวันเกิดของนางอย่างแน่ชัด สรัสวดี อ๋องสกุล ระบุว่าเกิดใน พ.ศ. 2385[1] ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ได้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดในปี พ.ศ. 2388[5] ขณะอายุได้ 5 ปี เจ้าอุบลวรรณาได้ติดตามเจ้าบิดา และเจ้าทิพเกสรลงไปเข้าเฝ้าถวายบรรณาการที่กรุงเทพมหานคร และลงไปกรุงเทพฯ หลายครั้ง ครั้งหนึ่งก็ใช้เวลาอาศัยอยู่ที่นั่นหลายเดือน ถือเป็นสตรีสูงศักดิ์จากเมืองเหนือที่เปิดโลกอันทันสมัยมาตั้งแต่ยังเยาว์[1]
เจ้าอุบลวรรณาสั่งสมความรู้และประสบการณ์จากการพบปะผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะหมอสอนศาสนาชาวต่างประเทศ ทำให้เธอมีความฉลาดหลักแหลม สนใจข่าวสารจากโลกภายนอก มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ทั้งนี้เจ้าอุบลวรรณามีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา และศาสนา รวมทั้งยังสามารถใช้ภาษาอังกฤษดี สามารถสื่อสารกับชาวตะวันตกและพม่าได้โดยไม่ต้องใช้ล่าม[1] ฮอลต์ ฮัลเลต (Holt Hallett) เคยกล่าวยกย่องเจ้าอุบลวรรณาไว้ว่า "นักประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์เชียงใหม่"[1]
ใน ราชกิจจานุเบกษา ระบุว่าเจ้าอุบลวรรณาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 ด้วยโรคฝีรำมะนาด[6] บางแห่งก็ว่าเจ้าอุบลวรรณาเสียชีวิตราว พ.ศ. 2429[1] ซึ่ง ดร. มาเรียน อาลอนโซ ชีก หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน สหายคนสนิทของเจ้าอุบลวรรณาระบุว่า นางเสียชีวิตด้วยยาพิษ แต่มิได้ระบุว่าถูกลอบสังหารหรืออัตวินิบาตกรรม
เจ้าอุบลวรรณาเล็งเห็นอนาคตทางธุรกิจการค้า ดังปรากฏเมื่อครั้งที่ชาวจีนขอผูกขาดการต้มเหล้า ระหว่างการพิจารณานั้นแม่เจ้าทิพเกสรได้ล้มป่วย และมีการจัดพิธีทรงเจ้าตามความเชื่อในอดีตโดยเจ้าอุบลวรรณารับเป็น "ม้าขี่" หรือร่างทรง เมื่อวิญญาณที่มาเข้าร่างทรงได้แสดงความไม่พอใจอย่างมากที่จะอนุญาตให้คนจีนผูกขาดการต้มเหล้า ทั้งยังได้ขู่สำทับด้วยว่า หากมีการอนุญาตจะเกิดเหตุใหญ่ร้ายแรงกว่านี้ และการที่แม่เจ้าทิพเกสรเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นเพียงการสั่งสอนเท่านั้น แม้จะไม่ทราบว่าการทรงเจ้าดังกล่าวเป็นจริงหรือเป็นอุบายของเจ้าอุบลวรรณาเอง แต่อย่างไรก็ตามก็ทำให้ล้มเลิกการผูกขาดการต้มเหล้าไป[9][8][7]
เจ้าอุบลวรรณาเป็นผู้ขอให้พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ซื้อป่าไม้ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายไปจรดแดนพม่า และป่าไม้จังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งหมด แล้วให้ชาวต่างชาติเช่าทำกิจการป่าไม้ ดังปรากฏในบันทึกของเจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี ความว่า "...ณ เชียงใหม่สายพระเจ้ากาวิโรรสจึงได้รับค่าตอไม้มากกว่าสายอื่น...ข้าพเจ้าจำได้ว่าเจ้ายายของข้าพเจ้าเปนธิดาของเจ้าหญิงอุบลวรรณามารับค่าตอไม้ เอากระบุงขนาดใหญ่อย่างใช้หาบข้าวมาโกยเงินจากบนโต๊ะที่นับไว้เปนกอง ๆ ลงกระบุงเต็มสองกระบุง เอากระด้งปิดปากกระบุง..."
นอกจากนี้ยังเป็นกำลังสำคัญในการตั้งโรงงานต่าง ๆ เช่น โรงงานทอผ้า โรงทำเครื่องเงิน โรงแกะสลักไม้ โรงต้มเหล้า ฯลฯ ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้ และมีเงินภาษีบำรุงบ้านเมือง โดยใช้ความเป็นเจ้าและอำนาจทางการเมืองของตนในการปกป้องธุรกิจของตนไม่ถูกกระทบกระเทือน รวมทั้งพยายามต่อต้านอำนาจรัฐบาลสยามที่มีแนวโน้มในการลิดรอนอำนาจท้องถิ่น
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย, จดหมายเหตุแห่งชาติหอ