"การขายฝาก"ความหวังของคนถังแตก
ในสภาพเศรษฐกิจที่ยากต่อการดำรงชีวิต ความจำเป็นต่างๆอาจทำให้หลายครัวเรือนประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทันใช้ โดยเฉพาะเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่ต้องใช้เงินจำนวนมากมีคนจำนวนไม่น้อยจำใจกู้เงินนอกระบบ แต่หากคุณมีรถ มีที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเองการ “ขายฝาก” อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.491) ได้ระบุเอาไว้ว่า “ขายฝาก คือ สัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”
อ่านแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือการตกลงซื้อขายกัน โดยคนขายมีโอกาสไถ่สิ่งที่ขายไปคืนกลับมาเป็นของตัวเองได้หรือซื้อคืนได้นั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน รถ หรือของมีค่าอื่น ๆ หากเป็นการขายฝากผู้ขายก็มีสิทธิจะได้กลับมาครอบครองอีกครั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นธุรกิจการกู้ยืมโดยโอนทรัพย์สินออกไปชั่วคราวอย่างถูกกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้การขายฝากจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ทันทีเพราะผู้ซื้อต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อ ซึ่งราคาขายจะเทียบเท่าราคาประเมินทางราชการหรือราคาตลาดมิเช่นนั้นก็คงไม่มีใครกล้าซื้อหากสิทธิไม่ตกเป็นของตัวเองหลังจ่ายเงิน
ในขณะเดียวกันผู้ขายฝากแม้จะต้องตัดสินใจขายทรัพย์สินที่สำคัญแต่ก็มีโอกาสซื้อกลับคืนมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ขายฝากจะหาเงินได้ภายในระยะเวลาที่ตกลงกันหรือไม่
ดังนั้นผู้ขายฝากจะต้องคิดวางแผนไว้เป็นอย่างดีก่อนตัดสินใจนำทรัพย์สินไปขายฝาก เพราะหากอยากไถ่ทรัพย์สินคืนแต่ผู้ขายฝากไม่สามารถหาเงินไถ่ถอนได้ทันทรัพย์สินนั้นก็จะตกเป็นของผู้ซื้อฝากโดยไม่ต้องมีการฟ้องร้อง อย่างไรก็ดีในปีพ.ศ.2562 ได้เกิดพ.ร.บ.คุ้มครองในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งช่วยคุ้มครองผู้ขายฝากโดยกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำและกระบวนการไถ่ถอนเพื่อให้ผู้ขายฝากไม่เจอผู้ซื้อเอาเปรียบ เช่น กำหนดระยะเวลาสั้นเกินไปจนผู้ขายฝากไม่มีทางไถ่ถอนได้ทัน เป็นต้น
ผู้ขายฝากแม้จะเดือดร้อนเพียงใดก็ต้องระมัดระวังในการทำสัญญาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและต้องมีคนกลางเป็นพยาน ดังนั้นเรามาดูข้อควรระวังในการขายฝากกันต่อ
1. กำหนดระยะเวลาขายฝากให้สอดคล้องกับความสามารถในการหาเงินมาไถ่ถอนทรัพย์สินคืน
2. หากทรัพย์สินที่นำไปขายฝากตกเป็นสิทธิของผู้รับซื้อฝากแล้ว อย่าหลงเชื่อว่าผู้รับซื้อฝากจะยอมให้ซื้อทรัพย์สินคืน
3. เมื่อนำทรัพย์สินมาขายฝากแล้วจะต้องไถ่ถอนภายในกำหนดระยะเวลาเท่านั้นโดยไม่มีทางเลือก หากใกล้กำหนดระยะเวลาแล้วไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนทรัพย์คืนได้ก็ควรขอขยายเวลากับผู้รับซื้อฝาก
4. ไม่ควรนัดไถ่ถอนการขายฝากในช่วงบ่ายของวันสิ้นสุดสัญญาที่สำนักงานที่ดิน ควรนัดในช่วงเช้าเพราะหากผู้รับซื้อฝากบ่ายเบี่ยงหรือไม่มาตามนัดไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้ขายฝากจะไม่สามารถนำเงินไปวางณ สำนักงานวางทรัพย์ได้ทันทำให้ผู้ขายฝากเสียสิทธิในทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อฝาก
5. ควรระบุราคาการขายทรัพย์สินในสัญญาให้ตรงกับความเป็นจริง ผู้รับซื้อฝากจะให้ระบุในสัญญาสูงกว่าความเป็นจริงก็ตาม
ผู้เขียนบทความนี้หวังว่าบทความจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังสนใจการขายฝากทรัพย์สิน แล้วขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังเผชิญวิกฤตทางการเงิน
อ้างอิงจาก: หนังสือ “รอบรู้รอบหน้าด้วยธุรกิจขายฝากอสังหาริมทรัพย์” โดย ธนัท ตีรมาโนช
https://www.landinvestingthai.com/การขายฝาก/