สระน้ำหลอนในวังหลวง
หากจะเล่าเรื่องในวังหลวงเรื่องนึงซึ่งไม่เล่าไม่ได้คงจะต้องเป็นเรื่องหลอนๆในพระบรมมหาราชวัง...สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พลุกพล่านมีเหล่าเจ้าจอมนางในอยู่มากมาย..และแน่นอนเมื่อมีคนอยู่มากก็ต้องมีเรื่องมากเช่นกันและสิ่งที่อยู่เคียงคู่กับคนไทยคือเรื่องราวของความเชื่อและเรื่องราวสุดสะพรึงเรื่องที่กำลังจะเล่าในครั้งนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีหลักฐานประจักษ์พยานและเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงภายในพระราชวังหลวง
พระองค์อรทัยที่เป็นนามของสระนี้ มาจากพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบัว ทรงเป็นเจ้าหญิงที่มีพระพลานามัยไม่สู้สมบูรณ์นัก ยิ่งเมื่อทรงมีพระชนมายุมากก็ทรงป่วยกระเสาะกระแสะเรื้อรัง
เล่ากันว่า ทรงรักษาอาการประชวรทั้งทางแพทย์สมัยใหม่และทางไสยศาสตร์ ตลอดจนหมั่นบำเพ็ญพระกุศลเพื่อให้หายคลายจากพระโรค เช่น ทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ด้วยการบำเพ็ญทานสลากท่วมหลังช้าง ตามวิธีทางไสยศาสตร์โบราณ ปรากฏหลักฐานเรื่องนี้ในลายพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เจ้ากรมราชพิธีกระทรวงวัง ลงวันที่ ๓ มีนาคม ร.ศ.๑๒๘ ความว่า
“อรทัยขอยืมช้างใส่ฉลาก จะขอให้มายืนที่ประตูศรีสุดาวงศ์ ให้จัดมาให้ตามประสงค์ จะยืนแห่งใดเมื่อใดให้พูดกับกรมมนุพงษ์”
เล่าลือกันว่า พระองค์เจ้าอรไทยฯ สิ้นพระชนม์เพราะทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม เป็นข่าวกระซิบกระซาบโจษขานกันในหมู่ชาววัง ยิ่งเมื่อหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว มีผู้ได้ยินเสียงร้องโหยหวนในยามดึก มีผู้เห็นผี ซึ่งลือกันว่าเป็นผีพระองค์เจ้าอรไทยฯ มาร้องขอส่วนบุญ ล้วนเป็นข่าวที่ไม่เป็นมงคลเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่ชาววังในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง
และก็ “เป็นเรื่อง” ขึ้นจริงๆ เมื่อข่าวกระซิบลือเซ็งแซ่ไปถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้วยพระปรีชาญาณในอันที่จะปกป้องพระเกียรติยศและบำรุงขวัญกำลังใจข้าราชบริพารทั้งปวงให้ร่มเย็นเป็นสุขทั้งร่างกายและจิตใจ จึงโปรดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลถวายสังฆทาน และขุดสระน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลพระราชทานพระเจ้าน้องนางเธอ พระราชทานนามว่า “สระพระองค์อรทัย”
ในการบำเพ็ญการกุศลครั้งนั้น เจ้านายฝ่ายในทรงมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก โปรดให้มีการลอยสลากลงในสระเป็นกุศลทาน ให้บรรดาข้าหลวงพนักงานทั้งปวงมาช้อนตักสลากคนละลูก แล้วนำไปขึ้นของ ทำให้ได้รับทั้งความสนุกสนานและคลายความกลัว
สระพระองค์อรไทยฯ เป็นสระน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร ภายในสระก่ออิฐถือปูนโดยรอบ ที่ขอบสระทำเป็นทางเดินปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์ มีบันไดก่ออิฐฉาบปูนลงได้ 2 ทาง มีรั้วไม้ฉลุลายกั้นตามแนวทางเดินโดยรอบ มีประตูทางเข้า-ออก 2 ทาง สระน้ำมีหลังคาคลุมเป็นโครงสร้างหลังคาไม้มุงด้วยสังกะสี ที่ขอบชายคาประดับด้วยไม้แผ่นฉลุลายโดยรอบ ตรงทางเข้าสระด้านทิศตะวันออก มีแท่นก่ออิฐฉาบปูนจารึกคำอุทิศ
" ศุภมัสดุลุรัตนโกสินทร์ศก 124 สุริยคติกาลที่ 9 เดือนมีนาคม จันทรคตินิยม วันศุกร์เดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมเสงสัปตศก จุลศักราช 1267 พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ทรงพระดำริห์ว่า จะใคร่บำเพญอุทกทานให้เปนสาธารณประโยชน์ทั่วไปในบรรดาผู้ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง อันตั้งอยู่ ณ ที่ห่างไกลจากฝั่งน้ำ จึ่งนำพระประสงค์ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโยธาในกระทรวงวัง จับการสร้างสระนี้กว้าง 5 วา ยาว 7 วา 2 ศอก ลึก 2 วา ได้ลงเขื่อนถือปูนซีเมนต์ มีบันไดลาดศิลาขึ้นลง ปลูกหลังคาครอบแลรั้วกัน แล้วสำเร็จสิ้นเงิน 8661 บาท 8 อัฐ จึ่งได้อาราธนาพระสงฆ์เจริญพระปริตรพุทธมนต์ รับอาหารบิณฑบาตเปนเบื้องต้นแห่งทาน แล้วได้มีการแจกสลากต่าง ๆ มีช้างแลกระบือเปนอาทิ นับจำนวนถ้วน 5000 สลาก ทรงบริจาคแจกทั่วไปในบรรดาผู้ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยหวังพระทัยให้เปนประโยชน์แลยินดีทั่วหน้า ด้วยอำนาจพระเมตตาแลสาธารณอันได้ทรงบำเพ็ญครั้งนี้ จงเปนอุปการวิธีกางกั้น สรรพพิบัติอันตราย ให้พระโรคเสื่อมคลาย ทรงพระเจริญ ศุขศิริสวัสดิ์สิ้นกาลนาน ทรงอุทิศพระกุศลส่วนสาธารณทานนี้แดท่านทั้งหลายผู้ได้อนุโมทนา จงสำเร็จความปรารถนาในทางธรรม ทั้งปัจจุบันแลภายน่าเทอญ "
อีกทั้งสระน้ำนั้นก็ยังเป็นประโยชน์และจะทำให้คนทั้งปวงได้รำลึกถึงพระน้องนางพระองค์นี้ในส่วนที่มีพระคุณและทรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศ
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย, จดหมายเหตุ