กว่าจะเป็น"สะพานพุทธ"
ข่าวลือไม่เป็นมงคล
คราวพระนครครบ 150 ปี- กว่าจะเป็นสะพานพุทธ
ภาพการชุมนุมของผู้คนในงานเปิดสะพานพุทธ สมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ.2475 และเพื่อการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระนครจะมีอายุครบ 150 ปีแล้วในปี 2475 นี้เอง เป็นปีมะเส็งงูเล็กด้วย ทั้งในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ประสูติในปีมะเส็ง มีข่าวลือกันยกใหญ่ในทางไม่เป็นมงคลท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจและสารพัดปัญหาที่กำลังรุมเร้าเข้ามา คณะเสนาบดีถวายความเห็นว่า การฉลองพระนครครบ 150 ปีหนนี้ น่าจะมีการก่อสร้างถาวรวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่ระลึก เช่น
.
1.การขยายวัดสุทัศน์และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ที่หน้าวัด
2.การสร้างศาลยุติธรรมให้ใหญ่โตโอ่อ่าตามพระราชประสงค์รัชกาลที่ 5
3. สร้างสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกแห่งนอกเหนือจากสะพานพระราม 6 ที่รัชาลที่ 6 สร้างไว้แล้วที่บางกรวย
ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ไม่โปรดฯ ทางเลือกแรกเพราะต้องรื้อตลาดเสาชิงช้า ทรงเกรงว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน ไม่โปรดฯทางเลือกที่สองเพราะมิได้อำนวยประโยชน์แก่ราษฎรดีแต่พวกขุนศาลตุลาการเท่านั้น โปรดทางเลือกที่สามว่าจะทำให้ฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ ไปมาถึงกันได้สะดวก ที่ทางแถวธนบุรีก็จะเจริญขึ้น และเป็นการเชื่อมเมืองพระเจ้ากรุงธนกับเมืองสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เข้าเป็น “สุวรรณปฐพี” เดียวกัน สะพานนั้นจะทรงให้ชื่อว่าสะพานพระพุทธยอดฟ้า
.
บรรดาเจ้านายและขุนนางไม่น้อยพากันคัดค้าน หาว่าสิ้นเปลืองเศรษฐกิจกำลังไม่ดี มีสะพานพระราม 6 อยู่แล้วน่าจะพอแล้วจะสร้างอะไรกันนักหนา ในหลวงทรงน้อยพระทัยมาก ตรัสว่าขนาดพระเจ้าแผ่นดินคิดจะทำอะไรเพื่อบ้านเมืองก็ยังถูกขัดขวาง ถ้ารัฐบาลไม่มีเงินก็จะออกพระราชทรัพย์เอง แล้วเรี่ยไร่ราษฎรให้ช่วยกัน พอข่าวออกไปก็มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลจำนวนมากจนได้เงินเพียงพอ ที่ยกมานี้เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ...........
Cr. หนังสือปกเกล้าปกกระหม่อม
ศ.วิษณุ เครืองาม
อ้างอิงจาก: หนังสือปกเกล้าปกกระหม่อม, เพจให้กาลเวลาเล่าเรื่องแต่ปางก่อน