5 โรคยอดฮิตในหมู่พนักงานออฟฟิศ
5 โรคยอดฮิตในหมู่พนักงานออฟฟิศ
มนุษย์ออฟฟิศทั้งหลาย ใน 1 วันคุณทำงาน 8 ชั่วโมง 1 อาทิตย์คุณจะทำงาน 40 ชั่วโมงและใน 1 เดือนคุณจะทำงานทั้งหมดโดยประมาณกว่า 160 ชั่วโมง ลองคิดดูสิว่าคุณจะต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำทุกวันในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ บางคนอาจจะโชคดีได้ออกไปทำงานนอกสถานที่บ้าง ส่วนบางคนอาจจะต้องนั่งอยู่ที่เดิมเป็นประจำทุกวัน แต่เชื่อว่าหลายคนคงหนีไม่พ้นโรคยอดฮิตของพนักงานออฟฟิศกันอย่างแน่นอน เราจะมาดูกันว่าโรคยอดฮิตในหมู่พนักงานออฟฟิศจะมีโรคอะไรบ้าง? อาการและวิธีการรักษา พร้อมท่านวดแก้ไมเกรนง่ายช่วยผ่อนคลาย ติดตามได้ในบทความนี้!
5 โรคยอดฮิต พนักงานออฟฟิศเป็นบ่อย
พนักงานออฟฟิศมีพฤติกรรมในการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้
- โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด
เป็นกลุ่มของโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในส่วนหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์สมองและกล้ามเนื้อหัวใจมีความผิดปกติ อาจเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือไขมันสะสมได้ โดยมีอาการ คือ
- รู้สึกถึงความผิดปกติบริเวณหน้าอก ไม่ว่าจะเป็นหายใจถี่ คลื่นไส้ หรืออ่อนเพลียแบบเรื้อรัง รวมทั้งมีความดันโลหิตสูง
- มีอาการบวมน้ำ หรือรอยคล้ำที่เกิดขึ้นบริเวณช่วงขาท่อนล่าง ข้อเท้า ฝ่าเท้า หรือเล็บมือ
- มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง เช่น มีตุ่มก้อนคล้ายหูด มีเม็ดสีแดงเป็นปื้น ๆ เป็นผื่นไข้รูมาติก เป็นผื่นไข้คาวาซากิ เป็นต้น
การรักษาเบื้องต้น
อาการของโรคดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นหากต้องการหลีกเลี่ยงจากโรค ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพเพื่อปรับปรุงระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลให้อยู่ในระดับที่ปกติ นอกจากนี้ควรงดสูบบุหรี่และลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย
หากคุณสังเกตได้ถึงสัญญาณเริ่มต้นของโรคให้รีบไปตรวจสุขภาพโดยเร็วที่สุดเพื่อให้แพทย์ทำการวางแผนการรักษาและป้องกันภาวะการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ทันท่วงที อย่างน้อยคุณก็จะได้รับมือกับโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ทัน
2. ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก
เป็นกลุ่มโรคที่เกิดความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือไม่เป็นธรรมชาติ รวมทั้งอุบัติเหตุ อายุที่เพิ่มมากขึ้นและความผิดปกติของโครงสร้างทางด้านร่างกายด้วย ซึ่งความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกเกิดขึ้นได้หลายโรคอย่างเช่นโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่ทำให้เกิดโรคแฝงอื่น ๆ เช่น โรคกระดูกต้นคอเสื่อม ข้อไหล่ติด ภาวะกระดูกพรุน โรคข้อเข่าเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคพาร์กินสันและโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น อาการของกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรมจะแตกต่างกันไป แต่ก็จะมีลักษณะอาการหลัก ๆ ดังนี้
- มีอาการปวด ตึง เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆโดยเฉพาะคอ บ่า ไหล่ แขนและหลัง ร่วมกับอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
- มีอาการปวดบริเวณข้อต่อ ร้าวลงมาบริเวณต้นแขน หรือต้นขา ยิ่งเคลื่อนไหวมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นเท่านั้น
- มีอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนเกิดขึ้นบริเวณข้อต่อ อาจมีเสียงกรอบแกรบเกิดขึ้นขณะเคลื่อนไหวได้
- มีอาการสั่น กล้ามเนื้อเกร็งทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าลง โดยเฉพาะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบริเวณใบหน้า พูดลำบาก ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว มีอาการชาครึ่งซีก เวียนหัว หรือตาพร่ามัวร่วมด้วย
การรักษาเบื้องต้น
อาการของโรคเกิดจากพฤติกรรมการนั่งทำงานในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรมีการยึดหลัก “10-20-60” ในการเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานนั่นคือ ทุก 10 นาทีพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทุก 20 นาทีลุกเดินเล่น หรือเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงาน ทุก 60 นาทีให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและทำท่ากายบริหารง่าย ๆ รวมถึงการออกกำลังกายและปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมมากขึ้น
3. อาการปวดหัว และการปวดหัวไมเกรน
อาการปวดหัวเกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้ก้านสมองกระตุ้นให้หลอดเลือดมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียนนั่นเอง โดยปกติแล้วอาการปวดหัวและปวดหัวไมเกรนจะมีอาการคล้ายกัน คือ
- มีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือ 2 ข้างแบบตุ๊บ ๆ ร้าวมาที่กระบอกตา ท้ายทอย ร่วมกับ migraine aura
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง แพ้เสียง
การรักษาเบื้องต้น
อาการของโรคมักจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ เช่น อาหาร แสง เสียง อากาศ อารมณ์ ฮอร์โมน การพักผ่อนไม่เพียงพอและโรคออฟฟิศซินโดรม ดังนั้นการป้องกันปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นจึงเป็นวิธีการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถทำการนวดไมเกรน หรือนวดแก้ไมเกรนให้หายในระยะยาวได้ด้วย
4. โรคเครียดและโรคจากจิตใจอื่น ๆ
เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลกับสภาพจิตใจมากกว่าร่างกาย โดยเกิดจากความกดดัน ความคาดหวังและความสัมพันธ์ทางด้านสังคมที่สร้างแรงตึงเครียดจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลได้ในที่สุด โดยอาการสามารถเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น
- สุขภาพร่างกายแย่ลง ซึ่งมาจากภาวะเครียดสะสมและมีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ มักตื่นขึ้นมากลางดึก นอนผวาทั้งคืน เป็นต้น
- พฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงและอารมณ์ไม่มั่นคง เช่น มีความวิตกกังวล อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น
- มีความเครียดสะสมจนอยากตาย หรือแสดงออกทางกายชัดเจนมากขึ้น เช่น หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย
การรักษาเบื้องต้น
เริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดของตนเอง เช่น การตั้งเป้าหมายในชีวิตให้ง่ายขึ้น วางแผนชีวิตให้มีระเบียบ หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือระบายความรู้สึกออกมาบ้าง นอกจากนี้สามารถไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้อาการดีขึ้นได้
5. โรคอ้วน ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
เป็นกลุ่มโรคที่คนรุ่นใหม่มักเป็นกันมากที่สุด เนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคแฝงอื่น ๆ เช่น โรคข้อต่อและกล้ามเนื้อบาดเจ็บ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต ฯลฯ โดยมักจะมีสัญญาณของโรค คือ คำนวณดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 25 ขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์ที่ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ
การรักษาเบื้องต้น
สามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ส่วนผู้ที่นั่งทำงานอยู่หน้าคอม ควรหาเวลาขยับตัวบ้าง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและไม่ควรเครียดจนเกินไป
สรุปโรคฮิต พนักงานออฟฟิศควรรู้
โรคต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คุณคิด ดังนั้นการแก้ไขปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและง่ายที่สุดที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง หากปล่อยปละละเลย หรือไม่รีบปรึกษาแพทย์อาจทำให้ระดับความรุนแรงของโรคส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและคนรอบข้างได้ ดังนั้นไม่ว่าจะมีสัญญาณเริ่มต้นของโรคใด ๆ ดังกล่าว คุณจึงควรรีบทำการปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
Source:
https://formrecovery.com/th/acupressure-for-migraine/
https://formrecovery.com/th/acupressure-and-massage-for-migraine/
ภาพโดย: Lifestylememory on Freepik