"ไทยพาณิชย์" เป็นธนาคารแรก ที่ให้บริการ ATM ในเมืองไทย
"ไทยพาณิชย์" เป็นธนาคารแรก ที่ให้บริการเงินด่วน ATM ในเมืองไทย และปัจจุบันก็ได้กลายเป็นผู้ให้บริการตู้ ATM มากที่สุดในประเทศ ด้วยจำนวนกว่า 1 หมื่นเครื่องทั่วประเทศ
ย้อนจากวันนี้ (24 มีค.67) ไปเมื่อ 41 ปีก่อน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ SCB ก็ได้เปิดให้บริการเงินด่วน ATM (Automatic Teller Machine) เป็นธนาคารแรกของเมืองไทย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2526 โดยเริ่มที่สาขาแรกที่สำนักงานใหญ่ในขณะนั้น (สำนักชิดลม) จากนั้นก็ได้ทำการติดตั้งไปยังสาขาอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร อาทิเช่น สาขาบางลำพู ,สาขาโรงพยาบาลรามาธิบดี, สาขาสยามสแควร์, สาขาสภากาชาดไทย และสาขาโรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่จะขยายไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ
โดยในอดีตที่ผ่านมา ทางธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั่วไป ก็ได้มีการนำเครื่อง ATM ออกมาให้บริการเช่นกัน โดยใช้เครือข่ายของสยามเน็ต (Siamnet) ซึ่งนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย และแบงก์เน็ต (Banknet) นำโดยธนาคารกรุงเทพ จนกระทั่งมีการจัดตั้งเครือข่ายเอทีเอ็มพูล (ATM Pool) โดยเป็นการรวมตัวกันของทุกธนาคาร ทำให้ทางลูกค้าสามารถที่จะทำการเบิกถอนเงินสด ได้ผ่านเครื่องเอทีเอ็มธนาคารใดก็ได้ในประเทศไทย และแต่ละธนาคารก็ยังมีการพัฒนาบริการต่างๆ ได้แก่ โอนเงินข้ามธนาคาร (ORFT) บริการจ่ายบิล เติมเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ และบริการอื่นๆ ด้วย
ในปัจจุบันนี้ เครื่องเอทีเอ็มทุกธนาคารในประเทศไทย ได้ทำธุรกรรมผ่านบัตรชิปการ์ดแทนบัตรแถบแม่เหล็กแบบเดิม โดยธนาคารทุกแห่งได้มีการยกเลิกบัตรแบบแถบแม่เหล็กไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 ในขณะที่มีการแพร่หลายของบริการถอนเงินไม่ใช้บัตร (Cardless ATM) ผ่านโมบายล์แบงกิ้ง ที่แต่ละธนาคารได้นำมาให้บริการตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบัน ทางลูกค้าของแต่ละธนาคารสามารถทำรายการถอนเงินไม่ใช้บัตรได้ และแต่ละธนาคารก็ยังได้พัฒนาบริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ก็พบว่าธนาคารไทยพาณิชย์มีจำนวนเครื่อง ATM มากที่สุดในประเทศไทย มีประมาณ 10,955 เครื่อง รองลงมาก็คือธนาคารกสิกรไทย ประมาณ 9,100 เครื่อง ,ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 8,000 เครื่อง ,ธนาคารกรุงไทย ประมาณ 7,260 เครื่อง ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประมาณ 5,621 เครื่อง และธนาคารทหารไทยธนชาต ประมาณ 3,015 เครื่อง ตามลำดับ