ตามรอยแม่พลอยสี่แผ่นดินไปแถวเต็ง
ถ้าใครเป็นแฟนหนังสือหรือละครเรื่องสี่แผ่นดินที่มีแม่พลอยเป็นตัวนำแน่นอนค่ะว่าคงต้องคุ้นกับคำว่าแถวเต๊งแน่ๆ โดยเฉพาะตอนที่แม่ช้อยพาแม่พลอยเดินทัวร์ในพระบรมมหาราชวังและต้องมีสถานที่หนึ่งที่แม่พลอยกับแม่ช้อยผ่านนั่นก็คือเต๊ง หลายคนคงอยากจะรู้แล้วสิคะว่าที่นี่มันคือที่ไหนและเขามีกันเอาไว้ทำอะไรแถวเต๊ง
แถวเต๊งเป็นอาคารแถวสูงสองชั้น ทำหน้าที่เป็นกำแพงพระราชวัง
ชั้นในไปในตัว โอบล้อมพระราชฐานชั้นในไว้ทั้งสี่ทิศ ในอดีตเป็นที่อยู่ของผู้ปฏิบัติงานในพระราชฐานชั้นใน ตั้งแต่ข้าหลวงตามตำหนักต่าง ๆ คุณพนักงาน คุณห้องเครื่อง คุณเฒ่าแก่ ฯลฯ
แต่เดิมแถวเต๊งนี้เป็นอาคารชั้นเดียว เรียกว่า "แถวทิม" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ยกขึ้นเป็นอาคารสองชั้น เรียกกันเป็นสามัญว่า "เต๊ง" นอกจานั้นยังโปรดเกล้าฯให้สร้างอาคารแบบนี้ขึ้นอีกสองแถว ตามแนวกำแพงพระราชวังในรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ทิศตะวันออกไปจนจดทิศตะวันตก แถวเต๊งด้านทิศเหนือเรียกว่า "เต๊งแถวท่อ" ส่วนแถวเต๊งด้านทิศใต้เรียกว่า "เต๊งแดง"
ระหว่างเต๊งทั้งสองแถวนี้ มีประตูเป็นระยะ ๆ ทำเป็นประตูสองชั้น มีซุ้มประตู เป็นที่รักษาการของเจ้าหน้าที่ เพื่อแบ่งเขตพระราชฐานชั้นในให้เป็นตามลักษณะการใช้สอย พื้นที่บริเวณที่แถวเต๊งนี้โอบล้อมไว้จัดให้เป็นบริเวณที่พักอาศัย ส่วนด้านนอกของเต๊งไปทางทิศใต้ที่เรียกว่า "แถวนอก" จัดให้เป็นบริเวณกิจกรรมอื่น เช่น โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "อัฐิสถาน"ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลพระอัฐิเจ้านายฝ่ายใน และโปรดเกล้าฯให้สร้างยุ้งข้าวไว้ในพระราชฐานชั้นใน อันเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าโปรดเกล้าฯให้สร้างแถวเต๊งความสูงสองชั้นเพิ่มขึ้นในบริเวณแถวนอกใกล้ ๆ กับกำแพงพระบรมหาราชวังด้านทิศใต้ โดยเว้นที่ว่างระหว่างกำแพงชั้นนอกกับแถวเต๊งไว้เป็นที่อยู่ของทหารรักษาวัง ลักษณะแถวเต๊งที่สร้างขึ้นใหม่นี้ไม่ได้ขนานไปกับกำแพงพระราชวังโดยตลอด แต่บางช่วงจะหักมุมเป็นข้อศอกเว้นพื้นที่ว่างเป็นที่ทำการของทหารรักษาวัง
นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้เพิ่มเฉลียงขึ้นที่ทางเข้าด้านหน้าบริเวณแถวเต๊งด้านทิศตะวันออก และเต๊งแถวท่อ และย้ายบันไดจากภายในห้องมาไว้ที่เฉลียง ยื่นหลังคามุงด้วยสังกะสีมาคลุมเฉลียงไว้ทั้งหมด ส่วนฝาที่กั้นระหว่างห้องเฉพาะส่วนเฉลียง ทำเป็นไม้ฉลุลายซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมกันในรัชกาลนี้ ส่วนบริเวณแถวนอก สร้างสระนำขึ้นสระหนึ่งเรียกว่า "สระพระองค์อรไทยฯ"
ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้สร้าง "โรงโขน" ขึ้นบริเวณแถวนอก และเนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีการใช้สอยน้อย จึงโปรดเกล้าฯให้กั้นบริเวณให้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชฐานชั้นนอก เรียกกันเป็นสามัญว่า "ท้ายวัง" ด้วยเหตุนี้จึงต้องอุดช่องหน้าต่างที่เต๊งแดง บริเวณนี้จึงเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยของทหารรักษาวังและข้าราชการอื่น ๆ ในเวลาต่อมา
__________________________________
อ้างอิงจาก: หนังสือ "สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม 2" สำนักราชเลขาธิการ 2531 ,ทัศนศึกษา ตามรอยแม่พลอย ย้อนรอยสี่แผ่นดิน ของสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
https://www.youtube.com/watch?v=QXNeOtAVVeQ