เรื่องน่ารู้ของ...กรดโฟลิค..."ทำไมจึงจำเป็นต่อหญิงตั้งครรภ์"
เรื่องน่ารู้ของ...กรดโฟลิค...
กรดโฟลิค (Folic Acid) มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยในการสร้างส่วนประกอบสำคัญของพันธุกรรม (DNA) และมีความจำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลส์ มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญโปรตีน เมื่อได้รับกรดโฟลิคร่างกายจะเปลี่ยนโครงสร้างกรดโฟลิคให้กลายเป็นโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์ และซ่อมแซมพันธุกรรมหรือ ดี-เอ็น-เอ (DNA) ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการแบ่งเซลส์และการเจริญเติบโตของร่างกาย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเด็กทาราก หญิงตั้งครรภ์ ส่วนในเด็กทั่วไป วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ก็ยังมีความจำเป็นต้องได้รับโฟเลตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง และใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง รวมทั้งป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจางอีกด้วย
กรดโฟลิคกับหญิงตั้งครรภ์
ตามปกติแล้วกรดโฟลิคจะได้รับจากอาหารจำพวกไข่แดง ตับ ผักใบเขียว ผลไม้รสเปรี้ยว ถั่ว แต่ปริมาณกรดโฟลิคที่ได้จากอาหารนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หญิงที่ตั้งครรภ์จึงจำเป็ที่จะต้องได้รับเสริมเข้าไปเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบประสาท และป้องกันการเกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลัง (เช่น Neural tube defect, spina bifida) ของทารกในครรภ์ จากการวิจัยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่รับประทานกรดโฟลิคตามที่แพทย์แนะนำ สามารถลดโอกาสการเกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลังของทารกในครรภ์ลงถึง 50% และมีงานวิจัยระบุว่าการรับประทานโฟลิควันละ 400 ไมโครกรัม ในช่วงระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อกำหนดได้
กรดโฟลิคกับภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจาง คือ ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบิน(ส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง) ซึ่งทำหน้าที่ในการนำพาออกซิเจนไปสู่เซลส์ต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆของร่างกายได้รับออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ เมื่อสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่ผิดปกติ จะส่งผลให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่เหนื่อยง่าย ซึ่งการขาด กรดโฟลิคก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดจางได้
ทั้งนี้ยังสามารถพบภาวะเลือดจางจากการขาดโฟลิคได้ ในกรณีต่อไปนี้
1.ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสียเรื้อรัง ทำให้เกิดความผิดปกติต่อการดูดซึมสารอาหาร
2. ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ โดยแอลกอฮอล์จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมและรบกวนกระบวนการเผาผลาญของกรดโฟลิค
3. ในสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายต้องการโฟลิคในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์
อ้างอิงจาก: กรมอนามัย , wikipedia