ฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า สานต่ออนุรักษ์ทะเลอันดามัน
กฟผ. จับมือ ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า สานต่ออนุรักษ์ทะเลอันดามัน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ ทัพเรือภาคที่ 3 ศูนย์อำนวยการรักษา
ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมวางฐานฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า บริเวณเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ
(29 กุมภาพันธ์ 2567 ) พลเรือเอก นพดล สุภากร อดีตผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พร้อมด้วยพลตำรวจตรี วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายกิตติ เพ็ชรสันทัด อดีตรองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. และกรรมการบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมเป็นประธานการส่งมอบฐานฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า จำนวน 500 ชุด ให้กับกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยนายสุเอก เปี่ยมปัจจัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กฟผ. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรม ณ เกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต
พลเรือเอก นพดล สุภากร อดีตผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เปิดเผยว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนและเครือข่ายพันธมิตร ที่ได้ร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลไทย ด้วยกิจกรรมฟื้นฟูปะการังธรรมชาติในท้องที่ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ด้วยการนำทรัพยากรที่ไม่ใช้แล้วมาต่อยอดในการอนุรักษ์ปะการัง เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล ส่งผลให้แนวปะการังและระบบนิเวศใต้ท้องทะเลได้รับการฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
นายสุเอก เปี่ยมปัจจัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กฟผ. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำฐานฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ เกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,900 ชุด และสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ กฟผ. ได้ส่งมอบฐานฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเพิ่มเติม จำนวน 500 ชุด ให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อนำไปจัดวางในท้องทะเลที่มีความเหมาะสม ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศตามแนวชายฝั่ง และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ท้องทะเลไทยต่อไป
สำหรับการสร้างบ้านปลาด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้านั้น เป็นการนำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานมาสร้างบ้านปลาปะการังเทียม ซึ่งลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า มีวัสดุส่วนประกอบของเซรามิกที่คล้ายกับโครงสร้างหินปูนที่เกิดจากการเติบโตสร้างตัวของปะการัง และผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังพบว่าไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อท้องทะเล และยังมีคุณสมบัติที่ดีในการลงเกาะและการเจริญเติบโตของปะการัง
และจะทำหน้าที่เหมือนแนวปะการังธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำ ช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและฟื้นฟูปะการังธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์ได้ จึงนับเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด