การขอเลี้ยง "สิงโต" ที่บ้านต้องทำอย่างไร?
🦁
สำหรับสิงโต ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิด ก ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด เนื่องจากลักษณะสายพันธุ์มีความดุร้าย หรือด้วยลักษณะ พฤติกรรม อาจสร้างความหวาดกลัวหรือทำอันตรายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สินมนุษย์
การขออนุญาตมีไว้ในครอบครอง
-ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2565 ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองต้องทำการแจ้ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยมีเอกสารหลักฐานการได้มาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เช่น ใบนำเข้า ใบกำกับการจำหน่าย หรือใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อยืนยันการได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ไม่สามารถใช้บันทึกแจงรายละเอียดการได้มาซึ่งสัตว์ป่าควบคุมหรือซากสัตว์ป่าควบคุมได้
-ผู้ใดประสงค์ดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสิงโต ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 28 หรือค้าสัตว์ป่าควบคุม มาตรา 30 จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาเสนอการออกระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติในการการแจ้งการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าควบคุม (รวมถึงสิงโต) ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อผ่านการพิจารณา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากสิงโต อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก จึงต้องมีการพิจารณาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ ในการอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าสิงโตต่อไป
-ไม่แจ้งการครอบครองจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สถานที่ครอบครอง
-ต้องดูแลรักษาสิงโต ณ สถานที่ระบุในใบรับรองแจ้งการครอบครองอย่างเคร่งครัด
-ต้องจัดสถานที่ครอบครองให้มั่นคงแข้งแรง เพื่อป้องกันสิงโตหลุดไปทำร้ายผู้อื่น และต้องจัดทำป้ายเตือนอย่างเคร่งชัดเจน
-พื้นที่เพียงพอต่อการเลี้ยง ต้องมีพื้นที่อยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 4x4 เมตร ให้สิงโตได้วิ่งเล่น เพื่อลดความเครียด
การเคลื่อนย้ายสิงโต
-ต้องจัดระบบอย่างเหมาะสมปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น
-เปลี่ยนแปลงสถานที่เลี้ยงให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการเคลื่อนย้ายไม่น้อยกว่า 15 วัน
-การนำไปจัดแสดง หรือวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากการเลี้ยงหรือการเก็บรักษาตามปกติระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ให้ยื่นแบบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเคลื่อนย้าย
-การนำสิงโต มาโชว์ในที่สาธารณะ ไม่ดูแลรักษาในสถานที่ครอบครองที่แข็งแรงปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สิงโตหลุดจากสถานที่ครอบครอง
-กรณีสิงโตหลุด ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 24 ชั่วโมง และเมื่อจับกลับมาได้ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทันที
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช