พบแล้ว ! แหล่งอารยธรรมโบราณ มีอายุยาวนานกว่า 3,000 ปี จ่อขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งใหม่
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทาง 67 กิโลเมตร
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 3,000 ปี พบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง การดัดแปลงของโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้เป็นศาสนสถานของผู้คนในยุคทวารวดี และลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ
สถานที่สำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้แก่ หอนางอุสา ถ้ำพระ ถ้ำวัว-ถ้ำคน ภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ หีบศพนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา ถ้ำช้าง กู่นางอุสา ผาเสด็จ คอกม้าท้าวบารส คอกม้าน้อย บ่อน้ำนางอุษา เพิงหินนกกระทา ฉางข้าวนายพราน อูปโมงค์ ถ้ำฤๅษี ถ้ำปู่เจ
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
การขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้จะช่วยให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการดูแลอย่างรอบด้านทั้งการอนุรักษ์และการพัฒนา อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางวัฒนธรรมของไทยกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย
จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อีกทั้งยังกำลังจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าทันสมัยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม BCG ซึ่งจังหวัดอุดรธานีจะเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกในปี 2569 การมีแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งแรก และกำลังจะมีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 จะส่งผลให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
ประวัติและความสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 320 – 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่
- ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ พบมากกว่า 30 แห่ง มีอายุราว 2,500–3,000 ปีมาแล้ว แสดงถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น การล่าสัตว์ การประกอบพิธีกรรม การดำรงชีวิตแบบเกษตรกรรม
- ศาสนสถานในสมัยประวัติศาสตร์ พบมากกว่า 40 แห่ง มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี และล้านช้าง แสดงถึงพัฒนาการทางศาสนาและวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละยุคสมัย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีความสำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยล้านช้าง
- ด้านธรณีวิทยา เป็นแหล่งศึกษาธรณีวิทยาที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย พบหลักฐานทางธรณีวิทยาที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธรณีสัณฐานของพื้นที่
- ด้านการท่องเที่ยว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนทั่วไป
นิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา – บารส”
ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอานิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา – บารส” มาตั้งชื่อโบราณสถานที่ต่าง ๆ บนภูพระบาท การเที่ยวชมโบราณสถานบนภูพระบาทจึงควรต้องรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ เพื่อจะได้เข้าใจที่มาของชื่อตลอดจนทราบถึงคติความเชื่อของชุมชนได้เป็นอย่างดี
เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวความรักอันไม่สมหวังระหว่างนางอุสา ธิดาของท้าวกงพาน กับท้าวบารส ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าเมืองปะโคเวียงงัว โดยเรื่องราวเริ่มจากนางอุสาได้ทำการเสี่ยงทายหาคู่ ด้วยการทำมาลัยรูปหงส์ลอยไปตามลำน้ำ ซึ่งท้าวบารสเป็นผู้ที่เก็บได้ จึงออกตามเจ้าของมาลัยเสี่ยงทายนั้น จนมาถึงเมืองพานและได้พบกับนางอุสา ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน เมื่อท้าวกงพานทราบเรื่องจึงวางอุบายให้มีการแข่งขันสร้างวัดกันภายในหนึ่งวัน โดยผู้ที่แพ้การแข่งขันจะต้องตาย ฝั่งท้าวบารสเสียเปรียบเพราะมีคนน้อยกว่าจึงใช้เล่ห์กลอุบายนำโคมไฟไปแขวนบนยอดไม้เพื่อลวงให้ฝ่ายท้าวกงพานคิดว่าเป็นยามเช้าตรู่แล้ว จึงพากันเลิกสร้างวัดและพ่ายแพ้ไปในที่สุด และถูกตัดศีรษะ หลังจากนั้นนางอุสาได้ไปอยู่กับท้าวบารสที่เมืองปะโคเวียงงัว แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งจึงหนีกลับเมืองพาน ในขณะที่ท้าวบารสไปบำเพ็ญเพียรในป่าเพียงลำพัง ต่อมาเมื่อท้าวบารสทราบเรื่องจึงได้ออกเดินทางไปตามนางอุสา ณ เมืองพาน แต่พบว่านางอุสาได้สิ้นใจเพราะความตรอมใจไปก่อนหน้านั้นแล้ว ท้าวบารสเสียใจอย่างสุดซึ้งจึงตรอมใจตายตามนางอุสาไป
นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรักอันบริสุทธิ์ของนางอุสาและท้าวบารส ตลอดจนการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของผู้คนในช่วงเวลานั้น