เพลงหน้าที่เด็ก "เด็กเอ๋ย..เด็กดี ต้องมีหน้าที่ ๑๐ อย่างด้วยกัน" ถือกำเนิดเมื่อใด
องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศปฏิญญาสากล ว่าด้วยหน้าที่ของเด็ก เมื่อพ.ศ. 2498 โดยนาย วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์ เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมจัดงานวันเด็ก เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อเตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ รัฐบาลไทยในขณะนั้น ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการจัดงาน วันเด็กแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศ ทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตนเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัยที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติและศาสนา โดยประเทศไทยกำหนดจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ในการจัดงานวันเด็กครั้งที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2506
คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ได้พิจารณากำหนด “หน้าที่ของเด็ก” ขึ้น ด้วยความหวังให้เด็กได้ตระหนักในหน้าที่ของตนคู่กันไปกับสิทธิที่พึงจะได้รับ และให้ยึดถือเป็นหลักดังต่อไปนี้
1. เด็กพึงมีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา
2. เด็กพึงเคารพ และรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมือง
3. เด็กพึงเชื่อฟังบิดามารดา ผู้ปกครองและครูอาจารย์
4. เด็กพึงมีกิริยาวาจาสุภาพต่อคนทั่วไป และเคารพนับถือผู้ใหญ่
5. เด็กพึงมีความกตัญญูกตเวที
6. เด็กพึงเป็นผู้มีระเบียบและรักษาความสะอาดเสมอ
7. เด็กพึงมีความมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร และตั้งใจศึกษาหาความรู้
8. เด็กพึงรู้จักประหยัดและเก็บออมทรัพย์
9. เด็กพึงมีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าพูดกล้าทำในสิ่งที่ควร และมีน้ำใจเป็นนักกีฬา
10. เด็กพึงทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และรู้จักรักษาสาธารณสมบัติของชาติ
ครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ นักเขียนนวนิยายชื่อดังของไทย ซึ่งขณะนั้น ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ จัดงานวันเด็กแห่งชาติคนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ท่านได้นำเนื้อหาเกี่ยวกับหน้าที่ของเด็กดังกล่าวข้างต้น 10 ข้อ มาเรียงร้อยแต่งเป็นกลอนให้คล้องจองกัน และขอให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ( ผู้ก่อตั้ง หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ ) แต่งทำนองให้ โดยใช้ชื่อเพลงว่า “หน้าที่เด็ก” ...
จากนั้นได้มีการนำเพลงนี้ ไปเปิดทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ในงานวันเด็กแห่งชาติทุกปีและค่อยๆ ลดความนิยมลงในเวลาต่อมา
ในภายหลัง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้พิจารณาเห็นว่า เนื้อเพลงหน้าที่เด็กนี้ มีสาระสอดรับกับการสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ในสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นคำสอนที่ร่วมสมัย สอดคล้องกับ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงได้ร่วมกับบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) จัดทำสปอต เพลงหน้าที่เด็กขึ้นอีกครั้ง เพื่อเผยแพร่ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
ปัจจุบัน เราจะได้ยินเพลงนี้ในช่วงเทศกาลวันเด็กของทุกปี ด้วยคำร้องคุ้นเคยที่ว่า “เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน” นับว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเตือนใจเด็กและเยาวชน เพื่อให้พึงระลึกถึงหน้าที่ของตนที่ควรปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
เพลงเด็กดี
เด็กเอ๋ย..เด็กดี ต้องมีหน้าที่ ๑๐ อย่างด้วยกัน
เด็กเอ๋ย..เด็กดี ต้องมีหน้าที่ ๑๐ อย่างด้วยกัน
หนึ่ง...นับถือศาสนา
สอง...รักษาธรรมเนียมมั่น
สาม...เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
สี่...วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
ห้า...ยึดมั่นกตัญญู
หก...เป็นผู้รู้รักการงาน
เจ็ด...ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน
แปด...รู้จักออมประหยัด
เก้า...ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ ให้เหมาะกับกาล สมัยชาติพัฒนา
สิบ...บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา