ธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (Siam Commercial Bank of Thailand) เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก ของไทยกิจการของธนาคารเริ่มต้นขึ้นในนาม ‘บุคคลัภย์’ (Book Club) ในวันที่ 4 ต.ค. พ.ศ. 2447 ก่อตั้งโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เนื่องจากขณะนั้นทรงเชื่อว่า สยามประเทศมีความจำเป็น ต้องมีระบบการเงินธนาคาร เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หลังจากบุคคลัภย์ขยายตัวทางธุรกิจขึ้นเป็นลำดับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอำนาจพิเศษ ให้จัดตั้ง ‘บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด’ เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการ นับแต่วันที่ 30 ม.ค. พ.ศ. 2449 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการ เปิดทำการ ในที่ทำการเดิมของบุคคลัภย์ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร
ในปี พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่อภาษาไทย จากแบงก์สยามกัมมาจล เป็นธนาคารไทยพาณิชย์ และเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก The Siam Commercial Bank, Limited เป็น The Thai Commercial Bank, Limited ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2482 เป็นต้นไปจากนั้น 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 แต่งตั้ง นายเล้ง ศรีสมวงศ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ชาวไทยคนแรก ถือได้ว่าเป็นธนาคารที่ทันสมัยที่สุดของประเทศในยุคนั้น โดยเริ่มให้บริการเงินด่วน ด้วยเครื่อง ATM เป็นครั้งแรก และแห่งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2526 และมีสิ้นปี พ.ศ.2531 มีปริมาณสินทรัพย์รวม 1 แสนล้านบาท
ต่อมาในปี พ.ศ.2539 ได้ย้ายที่ทำการสำนักงานใหญ่ จากถนนชิดลม ไปยังอาคาร SCB Park Plaza ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน โดยมีนาย อาทิตย์ นันทวิทยา เป็นประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คนปัจจุบัน
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปจำนวนสาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ระบุว่า ณ เดือนตุลาคม 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีจำนวนสาขาและจุดบริการในประเทศ 903 สาขา ต่างประเทศ 6 สาขา รวม 909 สาขา